Google

Saturday, October 17, 2009

Socialism : สังคมนิยม

อุดมการณ์ที่ปฏิเสธปัจเจกชนนิยม ปฏิเสธกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว และปฏิเสธผลกำไรส่วนตัว แต่ยอมรับระบบที่อิงอาศัยการรวบอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาครัฐบาล สังคม และกลุ่มกรรมกรที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยทางการผลิตและการแจกจ่ายสินค้าและการรับผิดชอบทางสังคม หลักนิยมของสังคมนิยมนี้ มีข้อแตกต่างไปจากหลักการของค่านิยมแบบประชาธิปไตย และหลักการที่เรียกร้องอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์และระบอบเผด็จการ พวกที่ประกาศหลักการของสังคมนิยมมีหลายพวก คือ (1) พวกยูโทเปีย (สังคมในจินตนาการ) (2) พวกสายศาสนจักร คือพวกคริสเตียนและพวกถือศาสนาอื่น (3) พวกพรรคการเมือง (4) พวกยึดแนวรัฐสวัสดิการ (5) พวกผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนา (6) พวกนิกายหรือสังคมแบบเพ้อฝัน (7) พวกคอมมิวนิสต์ และ (8) พวกนิยมลัทธิอนาธิปไตย ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่ประกาศอุดมการณ์นี้มีดังนิ้คือ (1) แตกต่างในวิธีการที่จะให้ได้อำนาจและการจัดตั้งสังคมนิยมขึ้นมา (วิธีการแบบประชาธิปไตย หรือวิธีการแบบปฏิวัติ)และ (2) ระบบของสังคมนิยมที่จะจัดตั้งขึ้นมา (คือ ระบบที่รัฐเข้าควบคุม ระบบที่สหบาลกรรมการเข้าควบคุม และระบบสหกรณ์) ในด้านยุทธศาสตร์นั้น พวกสังคมนิยมแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1)พวกสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย คือ พวกที่พยายามใช้กลไกทางการเมืองของรัฐเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ โดยใช้แนวทางประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและทำการเปลี่ยนแปลงระบบที่มีมาแต่เดิมโดยสันติวิธี และ (2) พวกสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ คือ พวกที่เชื่อว่า เป้าหมายของพวกเขา จะบรรลุได้ก็โดยใช้วิธีรุนแรงและการทำลายล้างสถาบันนายทุนและประชาธิปไตยที่มาแต่เดิมเสียทั้งสิ้น ส่วนในด้านของวัตถุประสงค์นั้น พวกสังคมนิยมก็สามารถแยกได้เป็น 2 พวก คือ (1) พวกที่ต้องการจะจัดตั้งระบบรวมศูนย์ให้มาใช้อำนาจของรัฐ และ (2) พวกที่ยึดคตินิยมสหบาล คือ พวกที่มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างระบบกระจายอำนาจโดยให้กลุ่มกรรมกรเป็นเจ้าของและควบคุมอุตสาหกรรมทั้งปวง

ความสำคัญ หลักการของสังคมนิยมต่าง ๆ ได้พัฒนาขึ้นมาในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยกลุ่มผู้ปฏิรูป พรรคการเมือง และพวกปัญญาชน ที่ได้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของมวลชนที่มีผลมาจากระบบโรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการใช้ระบบนายทุนอย่างผิด ๆ ในช่วงต้น ๆ เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีการจัดตั้งระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างจำกัดขึ้นในรัฐก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่นในสวีเดนและในบริเตนใหญ่(อังกฤษ) ในรูปแบบของโครงการรัฐสวัสดิการที่กว้างไกล และให้รัฐบาลมีกรรมสิทธิ์ในอุตสาหกรรมและการบริการขั้นพื้นฐานบางอย่าง นอกจากนี้แล้วก็ได้มีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ได้ประกาศโครงการสังคมนิยมนี้เกิดขึ้นเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญในรัฐต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรปหลายรัฐ ส่วนทางฝ่ายสหภาพโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ต่างถือว่าระบบสังคมนิยมนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะก้าวไปสู่ขั้นสุดท้าย คือลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ นอกจากนี้แล้วพวกผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ บอกว่า เทคนิควิธีหลากหลายของการวางแผนและการควบคุมโดยรัฐบาลเพื่อให้บรรลุถึงความเจริญทางเศรษฐกิจของพวกตน เป็น "สังคมนิยมของโลกที่สาม” ถึงแม้ว่าสังคมนิยมมักจะถูกโจมตีในหมู่ประเทศประชาธิปไตย ว่าเป็นระบบที่ขัดขวางการริเริ่มและสนับสนุนการไร้ประสิทธิผล แต่ฝ่ายที่สนับสนุนสังคมนิยม ถือว่า สังคมนิยมเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง แทนลัทธินายทุนและลัทธิคอมมิวนิสต์

No comments:

Post a Comment