Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Theory : Dictatorship of the Proletariat

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

ขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ โดยที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีอำนาจเข้มแข็งขึ้น มีการกำจัดชนชั้นกระฏุมพีในฐานะชนชั้น แล้วทำการสถาปนาสังคมนิยมขึ้นมา คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพนี้หมายถึงว่า พวกกรรมกรจะเข้าควบคุมกลไกของรัฐและจะใช้กลไกนี้เพื่อจัดการสังคมเสียใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่เคยเป็นของเอกชนก็ให้มาเป็นของสาธารณชนเสีย เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ๆ เลนินและสตาลินบอกว่าขั้นตอนเผด็จการนี้ จะต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพอีกทีหนึ่ง ทั้งเลนินและสตาลินเห็นว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพนี้มีหน้าที่หลัก คือ ปกป้องรัฐและการปฏิวัติจากการฟื้นตัวของชนชั้นกระฎุมพี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า พวกนี้จะเพิ่มยิ่งกว่าจะลดการต่อต้านหลังจากถูกโค่นล้มอำนาจไปแล้ว

ความสำคัญ เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นวิธีการที่ทฤษฎีคอมมิวนิสต์บอกว่าสามารถใช้เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ ถึงแม้ว่าคาร์ล มาร์กซ์จะเชื่อว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมแน่ ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอื่นไปได้ แต่เขาก็ได้กำหนดให้ชนชั้นกรรมาชีพทำหน้าที่เป็นเครื่องมือก่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้เป็นผลขึ้นมาให้จงได้ แต่ด้วยเหตุที่ว่าทฤษฎีคอมมิวนิสต์ได้วางหลักไว้ว่า รัฐทุกรัฐอิงอาศัยกำลังด้วยกันทั้งนั้น และว่า กฎหมายเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงของชนชั้นที่ครอบงำ ดังนั้น จึงได้กำหนดให้ชนชั้นกรรมาชีพนี้เป็นผู้มีบทบาทในการใช้กลไกของรัฐเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่กล่าวมานั้น อย่างไรก็ดี ผู้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในรัฐคอมมิวนิสต์ทุกรัฐ ล้วนแต่ตั้งใจจะให้เป็น เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ แต่พอเอาเข้าจริงกลับกลายไปเป็น "เผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ" ที่ดำเนินการโดยผู้นำพรรคคนเดียวก็มี หรือที่ทำเป็นหมู่คณะก็มี ในสภาพโซเวียต ได้มีการใช้คำว่า "ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ" ในคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและของพรรค แทนคำว่า "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ซึ่งฟังแล้วเรียกอารมณ์ได้น้อยกว่า

No comments:

Post a Comment