Google

Saturday, October 17, 2009

Fourteen Points : หลักการโฟร์ทีนพ้อยท์

เครื่องมืออย่างหนึ่งของสงครามจิตวิทยา ประกอบด้วยหลักการอุดมคตินิยมต่าง ๆ ที่ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1918 เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าจะต้องชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 และว่าจะดำรงสันติภาพหลังจากสงครามยุติลงแล้ว ในหลักการโฟร์ทีนพ้อยท์ ประธานาธิบดีวิลสัน ได้เรียกร้องดังนี้ (1) ให้มีการทูตแบบเปิด (2) ให้มีเสรีภาพทางทะเล (3) ให้มีการลดกำลังรบ (4) ให้มีการขจัดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ (5) ให้นานาชาติเข้ากำกับดูแลอาณานิคมต่าง ๆ โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยสันติโดยอิงอาศัยหลักการการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง และ (6) ให้มีการจัดตั้งสมาคมนานาชาติขึ้นมาทำหน้าที่ให้หลักประกันในเอกราชทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของบรรดารัฐน้อยใหญ่เสมอเหมือนกัน

ความสำคัญ หลักการโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของโครงการอุดมคตินิยมว่ามีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมวลมนุษย์นับล้านคนได้ ข้อเสนอในโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ได้ใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือในทางโฆษณาชวนเชื่อในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ช่วยบำรุงขวัญของฝ่ายพันธมิตรและช่วยไปลดขวัญของฝ่ายเยอรมนีที่จะต่อสู้ เมื่อวิลสันได้รับการสนับสนุนจากมวลชนชาวยุโรปแล้ว จึงได้ใช้ไปกดดันบีบบังคับให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรอื่น ๆ กล่าวคือ เดวิด ลอยด์ จอร์จ, จอร์จ คลีมังคู, และวิตโตริโอ ออร์ลันโด ยอมอ่อนข้อในการประชุมสันติภาพแวร์ซายส์ ซึ่งแต่ละคนต่างมีแผนที่จะขยายดินแดนและลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น ข้อเรียกร้องของวิลสันที่ให้มีสมาคมของชาติต่าง ๆ ขึ้นมานั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ทำให้เกือบทุกชาติเข้าร่วมในสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนข้อเรียกร้องของวิลสันที่ให้ "มีข้อตกลงแบบเปิดเผยที่ลงนามกันอย่างเปิดเผย" นั้นก็เป็นเหตุให้มีการพัฒนา "การทูตแบบการประชุมกัน" ขึ้นมา สำหรับข้อเรียกร้องของเขาที่ให้มีการใช้หลักการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองนั้น ก็ได้นำไปสู่การจัดใหัมีการออกเสียงประชามติหลายต่อหลายครั้ง สรุปได้ว่าหลักการต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ในโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ ยังคงมีอิทธิพลต่อการดำเนินกิจการระหว่างประเทศและในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการแข่งขันกันทางด้านอุดมการณ์และทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ

No comments:

Post a Comment