Google

Saturday, October 17, 2009

Ideological Warfare : สงครามอุดมการณ์

ความขัดแย้งกันประเภทหนึ่ง ระหว่างระบบค่านิยม หรือ "วิธีชีวิต"ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งมีการใช้ความพยายามที่จะเปลี่ยนจิตใจของมวลชนให้เข้ามาอยู่ในฝ่ายของตน สงครามอุดมการณ์ มีลักษณะดังนี้ (1)มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (2) มีการใช้โครงการทางวัฒนธรรม (3)มีการใช้โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา ทางศิลปะ และทางวิทยาศาสตร์ (4) มีการช่วยเหลือในแบบให้เปล่าแก่ประเทศต่าง ๆ (5) มีการใช้กิจกรรมอย่างอื่น ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเอาชนะใจหรือผูกใจคน การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์สำคัญในโลกปัจจุบันเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐฝ่ายคอมมิวนิสต์กับรัฐฝ่าย ”โลกเสรี" และระหว่างคอมมิวนิสต์สายโซเวียตกับคอมมิวนิสต์สายจีน

ความสำคัญ สงครามอุดมการณ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างปะเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 20 สงครามอุดมการณ์นี้เป็นทั้ง "พลังรวม" คือรวมคนที่มีภูมิหลังในแต่ละชาติที่แตกต่างกันให้มาร่วมอยู่ในแนวทางเดียวกัน และเป็น "พลังแยก" คือแยกคนที่มีความเชื่อต่างกันให้เข้าต่อสู้กันในสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่มีการคลั่งใคล้ในลัทธิเป็นตัวจุดปะทุ แต่ละฝ่ายที่ทำการต่อสู้ทางอุดมการณ์อยู่ในปัจจุบัน ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้แก่พวกที่ยังไม่เข้าฝ่ายอีกหลายล้านคนว่า ฝ่ายตนมีจุดยืนที่เข้มแข็งกว่า มีระบบสังคมที่สูงส่งกว่า และมีแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรมกว่า แล้วป้ายสีระบบของฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นพวกชอบสงคราม เป็นจักรวรรดินิยม ต่ำทราม และมีความโหดร้ายทารุณ เมื่อจิตใจแต่ละคนในแต่ละค่ายอุดมการณ์ถูกปลูกฝังให้มีความจงเกลียดจงชังกันจนเข้ากระดูกดำอย่างนี้เสียแล้ว ก็ยากที่จะมีขันติธรรม และมีการประนีประนอมระหว่างกัน ผลที่ตามมา ก็คือ สงครามอุดมการณ์นี้ได้มีส่วนไปเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามเปิดเผยระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนต่างระบบที่กำลังแข่งขันกันอยู่นี้มากยิ่งขึ้น

No comments:

Post a Comment