Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Doctrine : Khrushchevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิครุชชอฟ

คุณูปการของ นิกิตา เอส. ครุชชอฟ ที่มีต่อลัทธิมาร์กซิสต์ -ลัทธิเลนิน และต่อการประยุกต์ใช้หลักนิยมคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต ลัทธิครุชชอฟนี้ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นปีที่ครุชชอฟเริ่มปรากฏตัวเป็นผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาในการแก่งแย่งอำนาจกันในยุคหลังสตาลิน จวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1963 อันเป็นปีที่ครุชชอฟถูกถอดออกจากอำนาจโดยอีกกลุ่มหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งนำโดย เลโอนิด ไอ. เบรซเนฟ และ อเล็กไซ โคซีกิน ครุชชอฟผู้นี้เริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แทนโยเซฟ สตาลิน ที่ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1953 เขาเริ่มเข้ากุมอำนาจเมื่อปี ค.ศ.1958 ซึ่งเขาได้ได้ถอด นิโคไล เอ. บุลกานิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาเองก็ได้เข้ารับตำแหน่งนี้แทน ส่วนคุณูปการต่าง ๆ ของครุชชอฟที่มีต่อหลักการคอมมิวนิสต์เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้คือ (1) มีการปฏิเสธหลักการ "ยึดตัวบุคคล" ของสตาลิน แล้วได้หันกลับมาใช้แนวทางแบบผู้นำร่วมของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินที่ "แท้ ๆ " (2) มีการประกาศใช้หลักการและนโยบาย"การอยู่ร่วมกันโดยสันติ" ระหว่างหมู่รัฐคอมมิวนิสต์กับหมู่รัฐนายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้เรียกร้องให้ทำ "สงครามปลดปล่อยแห่งชาติ"ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (3)มีการประณามลัทธิเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จของสตาลิน และได้ดำเนินนโยบายที่มีลักษณะทรราชย์น้อยลงมาบ้างในสหภาพโซเวียต (4) มีการกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนเป็นครั้งแรกไว้สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์แล้วได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากรัฐสังคมนิยมนี้ไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี (5) มีการประกาศว่า ถึงแมัว่าชนชั้นและรัฐจะ "ห่อเหี่ยวร่วงโรย" ไปหมดแล้วก็ตาม แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะยังคงเป็นพลังชี้นำในสังคมอนาคตอยู่ต่อไป และ (6)มีการพัฒนาหลักการทางยุทธวิธีที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะต้องเอาชนะลัทธินายทุนนิยมด้วยการแข่งขันกันโดยสันติวิธีในโลก ทั้งนี้โดยวิธีพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นระบบสังคมและระบบการผลิตที่สูงส่งกว่าระบบทุนนิยม

ความสำคัญ คุณูปการต่าง ๆ ของลัทธิครุชชอฟ ที่มีต่อหลักการและหลักปฏิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ เป็นผลพวงมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่ผู้นำโซเวียตช่วงยุคหลังสตาลินเผชิญหน้าอยู่ ยกตัวอย่างเช่น มีการตึงเครียดเกิดขึ้นเพราะผลมาจากการใช้วิธีการแบบเผด็จการกดขี่บังคับ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพในสังคมโซเวียตและสังคมในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก พอครุชชอฟก้าวขึ้นสู่อำนาจก็ได้ประณามยุคของสตาลินว่าเป็นยุคแห่งความกลัว แม้ว่าตัวครุชชอฟเองจะมีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็ตาม แต่พอถึงทีตัวเองมีอำนาจบ้าง ครุชชอฟก็ได้หันเข้าหาวิธีการปกครองแบบใหญ่คนเดียวบ้าง และต่อมาเขาเองก็ได้ถูกพวกที่เข้ารับช่วงอำนาจต่อประณามว่าเป็นพวก "ยึดหลักบุคคล" อีกเหมือนกัน ในด้านกิจการต่างประเทศนั้น ครุชชอฟก็ได้ยอมรับว่า ได้มีการปฏิวัติทางอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นมาพร้อม ๆกันจึงทำให้สงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกพ้นสมัยไปแล้ว แต่ทว่าสภาวะความไม่มั่นคงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชาติต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา สร้างโอกาสให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบ โดยครุชชอฟได้เสนอให้ใช้วิธีการ "ทางลัด" แบบสังคมนิยมในการพัฒนาและการสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ว่าครุชชอฟจะมิได้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินก็จริง แต่ว่าการตีความและการประยุกต์ใช้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ของผู้นำโซเวียตในช่วงยุคครุชชอฟนี้ ก็ได้ส่งผลให้มีการเน้นย้ำในเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลให้มีการทบทวนนโยบายคอมมิวนิสต์ที่มีมาแต่เดิม ตลอดจนเกิดผลให้มีความแตกแยกครั้งสำคัญในโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างฝ่ายสหภาพโซเวียตกับฝ่ายจีน

No comments:

Post a Comment