Google

Saturday, October 17, 2009

Public Opinion : Mass Public มติมหาชน : มวลมหาชน

มติมหาชนทั่ว ๆ ไป เฉพาะที่มาเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยสั่งการของภาครัฐบาล มติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ จะไม่มีลักษณะเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับท่าที อคติและทรรศนะทั่ว ๆ ไป แต่จะประกอบด้วยมติมหาชนมากมายที่ต่างก็มีทรรศนะหลากหลายและมักมีความขัดแย้งกันด้วย ทรรศนะของมติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะนั้น อาจจะแสดงออกมา หรือเผยออกมาได้โดยวิธีการต่าง ๆ แต่วิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในรัฐที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ก็คือ โดยทางกระบวนการเลือกตั้ง หรือโดยการหยั่งเสียงมหาชน มติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ จะผ่านเข้าสู่กระบวนการสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมของรัฐบาลใน 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ (1) ขั้นตอนสร้างนโยบาย (2) ขั้นตอนแสดงความเห็น และ (3) ขั้นตอนสร้างผลโดยตรงหรือเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจในนโยบาย

ความสำคัญ บทบาทของมติมหาชนแบบมวลมหาชน ในการมีอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างนโยบายนั้น จะทำได้อย่างมีประสิทธิผลในเรื่องของกิจการภายในประเทศมากกว่าในเรื่องของกิจการต่างประเทศ ไม่มีผู้นำทางการเมืองคนใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในรัฐที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะวางเฉยไม่สนใจใยดีต่อท่าทีของมหาชนทั่วไป หากท่าทีนั้นเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนแจ่มชัดต่อวิธีการหรือต่อวัตถุประสงค์ของโครงการนโยบายต่างประเทศในระยะยาว ถึงแม้ว่าการริเริ่มทางนโยบายจะมิได้เกิดจากทรรศนะของมติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ก็จริง แต่มติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ก็จะไปขัดขวางการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้นได้ ตัวอย่างสำคัญของสถานการณ์ที่ทรรศนะของมติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญยิ่งในการควบคุมผู้นำในการวินิจฉัยสั่งการนโยบาย ก็คือ มติมหาชนแบบมวลมหาชนอเมริกันที่ต้องการให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายอยู่โดดเดี่ยวและดำเนินนโยบายเป็นกลางได้เป็นพลังสกัดกั้นมิให้ประธานาธิบดี รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา ดำเนินนโยบายขยายความช่วยเหลือแก่ฝ่ายพันธมิตรในช่วงปี ค.ศ. 1939 ถึงปี ค.ศ. 1941 อันเป็นช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ นอกจากนี้แล้ว มติมหาชนแบบมวลมหาชนนี้ ก็ยังมีบทบาทสำคัญยิ่ง ทำให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1974 อันเป็นการลาออกครั้งแรกของประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

No comments:

Post a Comment