Google

Saturday, October 17, 2009

Facist Theory : Anticommunism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : คตินิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์

ความเชื่อและเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้อย่างกว้างขวาง ของลัทธิฟัสซิสต์ที่บอกว่า จะมีก็แต่เพียงรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จมีความสามัคคีนำโดยผู้นำสูงสุด (ผู้เผด็จการ)เท่านั้น จึงจะสามารถเผชิญกับภัยคุกคามจากยุทธวิธีของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ คตินิยมการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของลัทธิฟัสซิสต์นี้ได้ฉกฉวยประโยชน์จากความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชนทุกชั้นในรัฐที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แล้วใช้ความกลัวนี้เพื่อยึดอำนาจและดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ พวกศัตรูทางการเมืองมักจะถูกระบอบการปกครองฟัสซิสต์กำจัดโดยการป้ายสีว่า "เป็นคอมมิวนิสต์" บ้าง "เป็นตัวแทนคอมมิวนิสต์สากล" บ้าง ทฤษฎีฟัสซิสต์สร้างความหวังว่าจะสามารถเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ โดยการสถาปนาสังคมนิยม "แท้ ๆ" ขึ้นมา ซึ่งจะกำจัดการต่อสู้ของชนชั้นได้โดยการประสานผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสนับสนุนและช่วยเหลือชาติ

ความสำคัญ ลัทธิฟัสซิสต์ มิได้มีทฤษฎีที่มีลักษณะกว้างไกลและประสานเป็นหนึ่งเดียว และที่มีคนสนับสนุนจนสามารถได้อำนาจรัฐนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าได้อาสาจะเข้ามาสร้างความสามัคคีและเสถียรภาพให้แก่สังคมในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ที่คอมมิวนิสต์ทำการปฏิวัติแล้วคุกคามต่อระบบเดิม ซึ่งอาจจะถูกคุกคามจริง ๆ หรือสร้างภาพขึ้นมาก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีในช่วงต้นทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ได้เผชิญกับมรสุมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่คนไม่พอใจกับสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ มีการตกงานอย่างรุนแรงและเกิดการแตกแยกในสังคม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ได้อาสาเข้ามาช่วยคุ้มครองเยอรมนีจากคอมมิวนิสต์ จึงได้รับการหนุนหลังทางการเงินจากพวกนักอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยทั้งหลาย และก็ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมกร จนกระทั่งได้อำนาจรัฐมาเมื่อปี ค.ศ. 1933 และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีคณะทหารในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ ได้เข้ายึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร แล้วจัดตั้งระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์ขึ้นมา ด้วยการสนับสนุนของคณะผู้กุมอำนาจในประเทศนั้น ๆ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาติจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ที่เป็นการคุกคามจริง ๆ ก็มี ที่สร้างภาพขึ้นมาก็มาก

No comments:

Post a Comment