Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Theory : Contradictions of Capitalism

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยม

ความขัดแย้งในระดับพื้นฐานที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้อันมีแฝงอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุน ซึ่งในหลักการคอมมิวนิสต์บอกไว้ว่าความขัดแย้งนี้จะเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดการล่มสลายของลัทธินายทุนเอง คาร์ล มาร์กซ์บอกว่าความขัดแย้งของลัทธินายทุนนี้ จะเริ่มขึ้นที่ขั้นตอนการผลิต เมื่อพวกกรรมกรได้รับ (ค่าจ้าง) เพียงส่วนน้อยจากค่าของสิ่งของที่ได้ผลิตขึ้นมานั้น สำหรับส่วนที่เหลือที่เรียกว่าค่าส่วนเกินหรือกำไรนั้น พวกนายทุนได้เก็บเอาไว้ ผลที่ตามมา ก็คือ จะไม่มีอำนาจซื้อเพียงพอที่จะซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า เมื่อมีการบริโภคสินค้าต่ำเช่นนี้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงภายในชาติ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีความยากจนค่นแค้นมากยิ่งขึ้น มีการตกงานเพิ่มมากขึ้น เกิดการต่อสู้ของชนชั้น และในที่สุดก็จะนำไปสู่ชัยชนะของลัทธิสังคมนิยม

ความสำคัญ พวกคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ทฤษฎีความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยมนี้ แสดงให้เห็นว่า ลัทธิทุนนิยมมีเชื้อของการทำลายตนเองติดอยู่ในตัว และจะล่มสลายลงเนื่องจากความอ่อนแอและความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในตัว หาได้ถูกโจมตีจากพลังภายนอกใด ๆ ไม่ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 นั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นฉากสุดท้ายของวันอวสานของลัทธิทุนนิยมตามที่คาร์ล มาร์กซ์ได้พยากรณ์ไว้เป็นแน่แท้ แต่พวกนักวิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ได้บอกว่าไม่จริง ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจได้ลดความรุนแรงลงมานับแต่ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 และจากบทบาทของสหภาพแรงงานและเหตุอื่น ๆ ประกอบกัน ก็ได้ช่วยให้บรรดาคนงานได้ส่วนแบ่งในผลผลิตทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว นโยบายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลต่าง ๆ ก็ได้ไปปรับแต่งภายในระบบเศรษฐกิจของชาติ เพื่อมิให้เกิดการล่มสลายอย่างที่คาร์ล มาร์กซ์ได้ทำนายไว้แล้วนั้น นอกเหนือจากที่กล่าวนี้แล้ว ก็ได้มีการใช้หลักการเศรษฐกิจแบบคีเนเซียน และมีการพัฒนาระบบเครดิตผู้บริโภครวมขึ้นมา เหล่านี้ผู้สังเกตการณ์บางรายบอกว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปปรับแต่งและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบทุนนิยม

No comments:

Post a Comment