Google

Saturday, October 17, 2009

Democratic Theory : Natural Law ทฤษฎีประชาธิปไตย : กฎธรรมชาติ

แนวความคิดที่ว่า มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และใช้ได้ในระดับสากล เป็นกฎที่ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ และใช้เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมในการตัดสินการกระทำของพลเมืองและของรัฐบาล หลักการของ "กฎธรรมชาติ" ซึ่งมีอยู่ในทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ ได้จำกัดอำนาจของรัฐบาล กำหนดแนวความคิดในด้านความยุติธรรมโดยธรรมชาติ มีการกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของมวลมนุษย์ในสังคมระดับสากลซึ่งควบคุมโดยกฎธรรมชาติ

ความสำคัญ ทฤษฎีกฎธรรมชาตินี้ มีการอธิบายไว้เป็นครั้งแรกโดยพวกนักปรัชญากรีกสมัยต้น ๆ ต่อมาพวกสโตอิกส์ได้กำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญในการพัฒนาสังคมทั่วไป หลังจากนั้นมาพวกโรมันและพวกนักปรัชญาสายศาสนจักรในยุคกลางได้ทำการดัดแปลงแก้ไขกฎนี้ และสุดท้ายได้มีการพัฒนากฎนี้ให้เป็นหลักการสิทธิโดยธรรมชาติ อันเป็นหลักสำคัญของอุดมการณ์ในลัทธิประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงสุดท้ายนี่เองได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดจาก "กฎ"มาเป็น "สิทธิ" ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการเปลี่ยนจุดเน้นไปที่ปัจเจกชนนิยม อำนาจอธิปไตยปวงชน รัฐบาลมีอำนาจจำกัด ซึ่งหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ได้รวมอยู่ในคำประกาศเอกราชของอเมริกันและคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศส จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งระบบปฏิบัติการของการปกครองที่อิงอาศัยหลักการประชาธิปไตยที่ให้การรับรองในสิทธิโดยธรรมชาติและที่แยกไม่ได้นี้ของพลเมือง นอกจากนี้แล้ว แนวความคิดในเรื่องกฎธรรมชาตินี้ ก็ยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบกฎหมาย ระบบศีลธรรม ระบบจริยศาสตร์ และระบบศาสนา แต่หน้าที่หลักของกฎธรรมชาตินี้ ก็คือ เป็นตัวกำหนดมาตรฐานสำหรับความประพฤติของปัจเจกชนและของรัฐบาล และทำหน้าที่จำกัดอำนาจที่รัฐใช้กับประชาชน อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎธรรมชาตินี้มีลักษณะคลุมเครือจึงได้มีการตีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้บางคนถึงกับปฏิเสธกฎธรรมชาตินี้ไปเลย โดยบอกว่าเป็นแนวความคิดแบบเมตาฟิสิกส์ ยกตัวอย่างเช่น พวกนักปราชญ์ทางกฎหมายสายโพสิติวิสต์ (ปฏิฐานนิยม) ได้ปฏิเสธความถูกต้องของแนวความคิดในกฎธรรมชาตินี้ โดยอ้างหลักการว่า จะเป็นกฎหมายได้นั้น จะต้องเป็นเจตจำนงของรัฏฐาธิปัตย์และจะเป็นอย่างนี้ได้ก็จะต้องมีการประกาศใช้โดยรัฐบาลเท่านั้น

No comments:

Post a Comment