Google

Saturday, October 17, 2009

Democratic Theory : Individualism ทฤษฎีประชาธิปไตย : ปัจเจกชนนิยม

แนวความคิดสำคัญในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ได้ให้หลักการไว้ว่า เป้าหมายสำคัญของการปกครอง ก็คือ การส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของปัจเจกชน และให้แต่ละบุคคลได้ใช้ขีดความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ หลักการปัจเจกชนนิยมนี้มีสมมติฐานว่า รัฐบาลมีพันธกรณีที่จะให้ความเคารพและให้ความคุ้มครองในสิทธิต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล และให้ความคุ้มครองมิให้มีการล่วงละเมิดจากปัจเจกชนหรือกลุ่มชนอื่น

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์นั้น หลักการปัจเจกชนนิยมในทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ มีรากฐานอยู่บนแนวความคิดที่ว่า (1) ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด (2) อำนาจของรัฐบาลมีอย่างจำกัดและ (3) ปัจเจกชนแต่ละคนมีสิทธิตามธรรมชาติบางอย่างที่ละเมิดมิได้ สำหรับปัจเจกชนนิยมในทางเศรษฐกิจนั้น ได้เกิดขึ้นในระบบรัฐแบบตะวันตกในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งช่วงนั้นหลักการที่ยึดปัจเจกชนเป็นศูนย์กลางและหลักปฏิบัติของวัตถุนิยมแบบเสรีนิยม (ปล่อยให้ทำไป) ได้เริ่มเข้าแทนที่ระบบที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางของลัทธิพาณิชยนิยม การปฏิวัติใหญ่ในอเมริกาและการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เป็นสองเหตุการณ์สำคัญที่เป็นตัวช่วยเสริมระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น โดยได้สร้างระบบการเมืองที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการให้ความสำคัญต่อปัจเจกชน ยกตัวอย่างเช่น ในคำประกาศเอกราชของอเมริกา และในคำประกาศสิทธิของมนุษย์และของพลเมืองของฝรั่งเศส ต่างก็มีการเน้นย้ำในเรื่องให้เสรีภาพแก่ปัจเจกชนให้สามารถใช้สิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่เกิดได้อย่างเต็มที่ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่สำคัญในโลกปัจจุบันนี้ เป็นการขัดแย้งระหว่างแนวความคิดปัจเจกชนนิยมในทฤษฎีประชาธิปไตย กับแนวความคิดของทฤษฎีแบบรวมศูนย์อำนาจที่ปรากฏอยู่ในหลักนิยมลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์
36.Democratic Theory : Majority Rule ทฤษฎีประชาธิปไตย : การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
หลักการที่ว่าการตัดสินใจใด ๆ ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องกระทำโดยพลเมืองส่วนใหญ่ในหน่วยการเมืองนั้น ๆ ถึงแม้ว่าฝ่ายข้างมากจะมีสิทธิและมีอำนาจที่จะปกครองก็จริง แต่ในทฤษฎีประชาธิปไตยก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่า ฝ่ายข้างน้อยก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง และว่า ฝ่ายข้างน้อยนี้จะต้องได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์และสามารถเสนอนโยบายเป็นทางเลือกใหม่แทนนโยบายของฝ่ายข้างมากนั้นได้ กับทั้งสามารถหาทางเป็นฝ่ายข้างมากโดยผ่านทางกระบวนการเลือกตั้งได้อีกด้วย

ความสำคัญ หลักการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้ ได้รับการยอมรับจากนักทฤษฎีประชาธิปไตยส่วนใหญ่ว่า เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของหลักการและแนวปฏิบัติของประชาธิปไตย หากฝ่ายข้างมากไม่ได้ปกครองเสียแล้ว อำนาจก็จะต้องมีการใช้โดยกลุ่มผู้นำที่ถูกเลือกมาโดยยึดหลักทรัพย์สมบัติ หลักสถานภาพ หลักความสามารถ หรือหลักอย่างอื่นนอกจากนี้ และหากไม่ยึดหลักเจตนารมณ์ของฝ่ายข้างมากนี้เสียแล้ว ระบอบการปกครองก็จะออกมาในรูปสมบูรณาญาสิทธิ์ หรือการใช้อำนาจบงการได้ ถึงแม้ว่าการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้จะเหมาะกับการใช้ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคอย่างเช่นในประเทศอังกฤษ แต่ก็มีเหมือนกันที่นำระบบแบบนี้ไปใช้ในแบบรัฐบาลผสมคือโดยวิธีการรวมพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าด้วยกันเป็นเสียงข้างมากแล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา ซึ่งมีปรากฏให้เห็นดาษดื่นในรัฐประชาธิปไตยต่าง ๆ แต่นักทฤษฎีประชาธิปไตยบางรายได้ปฏิเสธการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้ แต่อยากจะให้เป็นรัฐบาลที่มีลักษณะเป็น "เสียงส่วนใหญ่ที่มีสมานฉันท์" หรือแบบ "เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นพ้อง" ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายข้างน้อยออกเสียงคัดค้านนโยบายที่สำคัญ ๆ ได้ ส่วนพวกนักทฤษฎีที่ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยเห็นว่า การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้เป็นแบบ "โมโบเครซี" หรือเป็นการปกครองโดยมวลชนที่ไม่ผ่านการฝึกฝน มีความไม่เหมาะสม และมีอารมณ์ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี จากการนำหลักการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์มาใช้กับระบบการปกครองนี้จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะอย่างกว้างขวางมากขึ้น

No comments:

Post a Comment