Google

Saturday, October 17, 2009

Propaganda : การโฆษณาชวนเชื่อ

รูปแบบของการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีเป้าหมายเพื่อจะใส่ข้อมูลแนวความคิด หรือภาพลักษณ์ ลงไปในใจของมนุษย์เพื่อให้มีอิทธิพลต่อความคิดอ่าน อารมณ์ หรือการกระทำของปัจเจกชน หรือของกลุ่มชน จุดมุ่งหมายของการโฆษณาชวนเชื่อ มีดังนี้ (1) เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากฝ่ายที่เป็นมิตรอยู่แล้ว (2) เพื่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงเจตนคติ และการรับรู้ในแนวความคิดหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ (3) เพื่อบั่นทอนหรือลดความสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่ไม่เป็นมิตร หรือเพื่อบั่นทอนหรือลดความสำคัญของนโยบาย และโครงการของรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรเหล่านี้ (4) เพื่อตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นมิตรของกลุ่มชนหรือของประเทศอื่น การโฆษณาชวนเชื่อนี้หากจะให้เกิดประสิทธิผลจริง ๆ ก็ต้องมีการสอดประสานกัน มีความน่าเชื่อถือได้สำหรับผู้รับสื่อ มีการย้ำอยู่บ่อย ๆ มีข้อความง่าย ๆ มีความคงเส้นคงวา น่าสนใจ เข้ากับสถานการณ์ในท้องถิ่นหรือในชาตินั้น ๆ และจะต้องมีการซ่อนเร้นเงื่อนงำไม่ให้ผู้ที่ตกเป็นเป้ารู้ทันว่าเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อ การโฆษณาชวนเชื่อนี้อาจจะใช้ในรูปแบบของการเรียกร้องทางอุดมคตินิยมของผู้รับสื่อ อาจจะมีการนำเสนอในรูปของข้อเท็จจริงแต่มีการเบี่ยงเบนประเด็นในบางตอน หรืออาจจะนำเสนอแต่ข้อเท็จทั้งหมดไปเลยก็ได้ กิจการการโฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นเครื่องมือของสงครามจิตวิทยาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์ โดยให้สอดประสานกับวัตถุประสงค์ทางผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐที่ทำการโฆษณาชวนเชื่อนั้น

ความสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีในศาสตร์การสื่อสาร โดยผ่านทางวิชาการสื่อสารมวลชนและจากการที่ได้มีการปรับปรุงในศิลปะการชักนำทางจิตวิทยา ได้ผนวกกันเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อไปในทางสร้างวัตถุประสงค์แห่งชาตินี้มากยิ่งขึ้น แต่ด้วยเหตุที่ว่าศัพท์ "การโฆษณาชวนเชื่อ" นี้มีความหมายส่อไปในทางไม่ดีเพื่อใช้หลอกลวงกัน พวกผู้นำรัฐจึงได้นิยมให้ร้ายป้ายสีความพยายามในการสื่อสารใด ๆ ของรัฐบาลอื่นว่าเป็น "การโฆษณาชวนเชื่อ" แต่ในขณะเดียวกันเมื่อถึงตอนที่ฝ่ายตนนำเสนอเอกสารทางการ รายงานข่าว และบทวิเคราะห์ใด ๆ ก็จะบอกไปว่า "เป็นข่าวที่ตรงไปตรงมา" เป็นบทวิเคราะห์ว่าตรงตามเนื้อหาสาระ โดยที่ไม่มีการย้อมสีหรือเลศนัยแฝงเร้นใด ๆ ไว้ แต่เมื่อรัฐบาลใดได้เสียชื่อเสียงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศว่าโกหกหลอกลวงต่อสาธารณชนอยู่เป็นประจำเสียแล้ว ประสิทธิผลในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลประเภทนี้ที่จะใช้สนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ก็จะลดน้อยถอยไปมาก แม้ว่าเกือบจะทุกชาติมีการดำเนินกิจกรรมการโฆษณาชวนเชื่อกันนี้ทั้งนั้นไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง แต่ชาติที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังและมีขอบข่ายกว้างขวางมากนั้นก็คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ข้างฝ่ายของสหรัฐอเมริกานั้น ในทางการทูตแบบเปิดเผย ได้ดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางเครือข่ายต่าง ๆ ดังนี้ คือ เครือข่ายวิทยุและโทรทัศน์ (สถานีวิทยุเสียงอเมริกา = วีโอเอ) ศูนย์ข่าวสาร ห้องสมุด การแจกหนังสือและแผ่นพับ การจัดนิทรรศการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้โดยอยู่ในกำกับของโครงการหน่วยข่าวสารสหรัฐ (ยูเซีย) นอกจากที่ได้กล่าวนี้แล้วทางรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังได้ให้การสนับสนุนเป็นการลับในด้านเงินทุนดำเนินงานของสถานีวิทยุ "เรดิโอฟรียุโรป" ที่ออกอากาศไปยังพื้นที่ทางยุโรปตะวันออก และสถานีวิทยุ "เรดิโอลิเบอร์ตี" ที่ออกอากาศพุ่งเป้าหมายไปที่สหภาพโซเวียต นอกจากนั้นแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 1983 ทางสภาคองเกรสของสหรัฐก็ยังได้ให้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุ "เรดิโอมารตี" (ตั้งชื่อตามผู้รักชาติชาวคิวบา ชื่อ โจเซ มารตี) ทำการออกอากาศข่าวและความเห็นต่าง ๆ ไปยังประเทศคิวบา ถึงแม้ว่าประธานาธิบดี โรนันด์ เรแกนต้องการให้ "สถานีวิทยุมารตี" ที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้มีอิสระคล้ายกับ "เรดิโอฟรียุโรป" และ "เรดิโรลิเบอร์ตี" แต่ทางฝ่ายสภาคองเกรสกลับให้ไปอยู่ในกำกับของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา

No comments:

Post a Comment