Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Doctrine : Gorbachevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิกอร์บาชอฟ

คุณูปการต่าง ๆ ต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี ค.ศ.1985 กอร์บาชอฟประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ได้เริ่มการปฏิรูปต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองเป็นการใหญ่ด้วยการใช้นโยบายแบบเสรีนิยม โดยอ้างว่าการปฏิรูปครั้งนี้สะท้อนให้เห็นแนวความคิดขั้นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้แก่ (1) มีการพยายามเพิ่มผลผลิตของกรรมกรด้วยการให้ลดการติดสุราและลดการขาดงานในสถานที่ทำงาน (2) มีการใช้นโยบาย "ร่วมทุน"อย่างจำกัด กับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ (3) ให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจและทางการพาณิชย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจมากขึ้น โดยปลอดจากการควบคุมทางการเมือง และให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (4) ส่งเสริมมาตรการบางอย่างในวิสาหกรรมภาคเอกชน และ (5) ให้ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดที่ยึดหลักอุปทานอุปสงค์เป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมัยกอร์บาชอฟนี้ เรียกในภาษารัสเซียว่า "กลาสนอสต์ (แปลว่า การเปิด)" และ "เปเรสทรอยกา (แปลว่า การบูรณะเศรษฐกิจ)" ส่วนสไตล์หรือรูปแบบของกอร์บาชอฟก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับสไตล์ของนักการเมืองฝ่ายตะวันตก คือ จะเสนอรายงานผ่านสื่อมวลชนสู่ประชาชนอยู่เนือง ๆ และก็ชอบเข้าไปคลุกคลีกับประชาชนชาวโซเวียตเพื่อรับรู้ความรู้สึกของคนในระดับล่าง ๆ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องต่าง ๆ ในขณะนั้น และเขาก็ยังมีแนวปฏิบัติอื่น ๆ คือ (1) มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายราย (2) มีการอนุญาตให้ตีพิมพ์งานเขียนต่าง ๆ ที่แต่เดิมห้ามมิให้มีการตีพิมพ์ และ (3) มีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในลักษณะที่มีการแข่งขันแบบประชาธิปไตยสำหรับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แม้ว่าโครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้ ในเนื้อหาและการนำไปใช้จะเกี่ยวกับกับเรื่องภายในประเทศเสียส่วนใหญ่ แต่ที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศได้เสนอให้มีการควบคุมอาวุธและลดกำลังรบ อย่างเช่นให้ใช้ระบบ "ซีโร-ออฟชั่น" เพื่อกำจัดอาวุธปล่อยพิสัยปานกลางออกจากยุโรป และเสนอให้มีสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

ความสำคัญ โครงการปฏิรูปในแบบเสรีนิยมที่ดำเนินการโดย มิคาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต เป็นการเบี่ยงเบนครั้งสำคัญจากลัทธิมากซิสต์-ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ที่ได้เกิดขึ้นนับแต่มีการปฏิวัติบอลเชวิก และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพวกคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1919 เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงเกิดการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาในหมู่ประเทศตะวันตก บ้างก็ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า โครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้จะอยู่รอดจากการรุมโจมตีจากฝ่ายที่เป็นศัตรูของโครงการ คือจากภายในของสหภาพโซเวียตเองและจากกลุ่มประเทศในกติกาสัญญาวอร์ซอได้หรือไม่ และถ้าหากว่าโครงการแบบเสรีนิยมของเขานี้ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตกกันแน่ และการที่สหภาพโซเวียตมีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยมและเป็นแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนี้ จะไปช่วยลดการคุกคามทั้งทางด้านการทหารและทางด้านอุดมการณ์ลงมาหรือไม่ คำถามต่าง ๆ ที่ว่ามานี้และรวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงคาดเดาต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ดี เรื่องแรงกระทบของลัทธิกอร์บาชอฟต่อสหภาพโซเวียต ต่อประเทศฝ่ายตะวันตก และต่อทั่วทั้งโลก จะเป็นอย่างไรและมีมากขนาดไหน ยังเป็นปริศนาที่ดำมืดอยู่ต่อไป โครงการ "กลาสนอสต์" และ "เปเรสทรอยกา" ในสหภาพโซเวียตมีความละม้ายคล้ายคลึงกับขบวนการเสรีนิยมที่เริ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ค.ศ. 1977 โดย เติ้งเสี่ยวผิง

No comments:

Post a Comment