Google

Saturday, October 17, 2009

Fascism : ลัทธิฟัสซิสต์

อุดมการณ์ของพวกขวาจัด ซึ่งส่งเสริมสังคมแบบอำนาจนิยมที่อิงอาศัยการปกครองโดยคณะบุคคลระดับหัวกะทิที่นำโดยผู้นำหรือผู้เผด็จการสูงสุด พวกฟัสซิสต์ปกติแล้วจะได้อำนาจรัฐโดยวิธีก่อรัฐประหาร หรือไม่ก็ได้อำนาจรัฐในช่วงที่เกิดการปฏิวัติวุ่นวาย เนื่องจากเกิดการกลัวภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งที่คุกคามจริงหรือสร้างภาพขึ้นมาก็ตามที ทำให้คนส่วนใหญ่หันมายอมรับการเปลี่ยนแปลงสถาบันต่าง ๆ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อเผชิญกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ลัทธิฟัสซิสต์นี้มักจะให้การยกย่องรัฐเสียจนเลิศลอยเกินความเป็นจริง มีการปฏิเสธปัจเจกนิยม และแนวความคิดที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัด แต่จะให้การสนับสนุนระบบที่จะให้คนมีระเบียบวินัยและมอบความจงรักภักดีอย่างเต็มที่ต่อรัฐที่ได้ชื่อว่ามีอินทรีย์ และเป็นแกนกลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่มีความเห็นแตกแยกไปจากรัฐจะถูกกำจัด มีการเสริมสร้างสามัคคีในชาติ ด้วยการใช้ปฏิบัติการของตำรวจลับ ใช้โครงการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน และให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวผูกขาดอำนาจ ในรัฐฟัสซิสต์จะอบอวลไปด้วยความรู้สึกเกลียดชังต่างชาติ และบูชาทหารแบบแสนยนิยม ภายใต้ระบบการปกครองแบบฟัสซิสต์ จะยังคงให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและในทุนต่อไป แต่ธุรกิจและองค์การของเอกชนทั้งหมด รัฐจะเข้าไปจัดการและชี้นำเพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของชาติ

ความสำคัญ ลัทธิฟัสซิต์สมัยใหม่ เกิดขึ้นมาจากวิกฤติการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในระหว่างสงครามในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ต้นแบบของรัฐฟัสซิสต์นี้ ผู้ที่ทำการหล่อหลอมขึ้นมาเป็นครั้งแรก คือ เบนิโต มัสโสลินี ในช่วงหลังจากที่เขาได้อำนาจในอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1922 ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากปฏิกิริยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภายหลังจากเกิดการปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซีย ในช่วงหลังต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์แบบเดียวกันนี้โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีของเขาในเยอรมนี โดยฟรังซิสโก ฟรังโก และพรรคฟาลังยิสต์ในสเปน โดยฮวน เปอรอง และพรรคเปอโรนิสตาในอาร์เจนตินา และในประเทศแถบยุโรปตะวันออกอีกหลายประเทศ ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1940 ถึงแม้ว่าลัทธิฟัสซิสต์ในส่วนที่เป็นอุดมการณ์จะถึงแก่การล่มสลายภายหลังจากการพ่ายแพ้ของมหาอำนาจฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังมีลัทธิฟัสซิสต์แบบใหม่ได้เกิดขึ้นมาในประเทศด้อยพัฒนาที่เพิ่งเกิดหลายประเทศทั่วโลก เมื่อทหารได้เข้ายึดอำนาจภายหลังจากเกิดการล้มเหลวของสถาบันในระบบประชาธิปไตยต่าง ๆ ที่เพิ่งลองนำมาหัดใช้ ระบบฟัสซิสต์จะประสบปัญหาร้ายแรงอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้เพราะระบบการปกครองแบบนี้จะต้องอิงอาศัยบารมีของผู้นำสูงสุดเป็นหลัก ซึ่งผู้นำผู้นี้จะครอบงำชาติโดยวิธีได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน หรือไม่ก็โดยใช้กำลังและความเหี้ยมโหดในการปกครองประเทศ ลัทธิฟัสซิสต์ในด้านที่เป็นอุดมการณ์นั้น จะปฏิเสธกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่อิงอาศัยหลักเสรีภาพ หลักการเลือกตั้งเสรี และหลักภาระรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลัทธิฟัสซิสต์จะเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อพวกคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยมฝ่ายซ้าย

No comments:

Post a Comment