Google

Saturday, October 17, 2009

.Capitalism : ลัทธินายทุน

ทฤษฎีและระบบทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการประกอบการอิสระแบบเสรีนิยม ทฤษฎีลัทธินายทุนเรียกร้องให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและในปัจจัยการผลิต ให้มีระบบแข่งขันกันโดยมีกำไรมาเป็นตัวกระตุ้น ให้เอกชนมีส่วนริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ให้รัฐบาลขัดขวางในเรื่องของกรรมสิทธิ์ การผลิตและการค้า กับให้มีเศรษฐกิจแบบการตลาด คือ ให้เป็นระบบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอุปทานและอุปสงค์ นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีลัทธินายทุนนี้ก็ยังมีข้อสมมติฐานด้วยว่าหากปล่อยให้แรงงานและทุนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีและให้มีการค้าเสรีทั้งในตลาดภายในประเทศและในตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศและเกิดการชำนาญเฉพาะทางระหว่างชาติต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าลัทธินายทุนในบางรูปแบบจะมีอยู่ในสังคมมนุษย์ตลอดมาก็จริงแต่ทฤษฎีที่ซับซ้อนที่ใช้เป็นฐานรองรับลัทธินายทุนในสมัยใหม่เหล่านี้ ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาโดยพวกนักเศรษฐศาสตร์ในยุคคลาสสิก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง เวลท์ ออฟ เนชั่นส์ ของอาดัม สมิธ เมื่อปี ค.ศ. 1776

ความสำคัญ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่18 ต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่19 หลักการและแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ของลัทธิทุนนิยม รวมทั้งแนวความคิดทางประชาธิปไตยของเสรีนิยมทางการเมืองได้เข้ามาแทนที่ลัทธิพาณิชยนิยมและระบอบราชาธิปไตยที่มีมาแต่เดิม เมื่อรัฐบาลได้ทำการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศของลัทธิพาณิชยนิยมนี้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ได้เปิดทางให้แก่การประกอบการแบบเสรีนิยมโดยให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนให้มีการค้าอย่างเสรีเกิดขึ้นมาอีกด้วย ผลจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติทางการอุตสาหกรรมขึ้นมา คริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นศตวรรษแห่งผลพวงของลัทธิทุนนิยม และในขณะเดียวกันลัทธินี้ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างมากมาย ในบางรัฐการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของการขยายบทบาทของรัฐบาลในกิจการทางเศรษฐกิจ มีการให้เอกชนมามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสามารถริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐบาลที่ให้การสนับสนุนและสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาในระบบ "เศรษฐกิจผสม" ใหม่นี้ ส่วนในบางรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ ลัทธิทุนนิยมนี้ได้ถูกเข้าแทนที่โดยลัทธิสังคมนิยมหรือลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานให้รัฐเข้าควบคุมเศรษฐกิจและการค้าอย่างเคร่งครัด ในโลกปัจจุบันนี้ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตบางรายมีความเชื่อว่า ลักษณะขั้นพื้นฐานของลัทธิทุนนิยมที่ยึดหลักให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้เป็นการประกอบการแบบเสรีนิยมนี้ ได้ถูกบิดเบือนในรัฐประชาธิปไตยบางรัฐ โดยใช้สงครามเศรษฐกิจและการเกี่ยวโยงทางอำนาจระหว่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมกับฝ่ายรัฐบาล ส่วนในสหภาพโซเวียตและในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออก ก็ได้มีการปฏิรูปต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการไปลดบทบาทของรัฐบาลในการวางแผนและในการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และในขณะเดียวกันก็เป็นการไปช่วยสนับสนุนให้มีการใช้แรงจูงใจเรื่องผลกำไรกับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนและกับคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระดับอุดมการณ์นั้นก็จะเป็นการยากที่จะให้มีการยอมรับแนวความคิดของลัทธินายทุนนี้ในรัฐที่กำลังพัฒนาอีกหลาย ๆ รัฐ เพราะในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีระบบที่ให้เอกชนได้เข้ามาเป็นผู้ริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ค่อยมีการออม และไม่ค่อยมีตลาดผู้บริโภคมากนัก ส่วนในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์บางรัฐ อย่างเช่น จีนและฮังการี ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมนิยมในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ที่ให้รัฐมีบทบาทควบคุมนี้ โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่าง ๆ ด้วยการยอมให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการทางเศรษฐกิจและให้นำระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มาใช้แทนระบบที่รัฐบาลทำการควบคุมและปฏิบัติการเสียเองอย่างแต่ก่อน

No comments:

Post a Comment