Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Doctrine : Stalinism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิสตาลิน

การตีความทางทฤษฎีและการประยุกต์ในทางปฏิบัติของหลักนิยมมาร์กซิสต์ส่วนที่เป็นคุณูปการโดยโยเซฟ สตาลิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจครอบงำพรรคคอมมิวนิสต์และกลไกของรัฐบาลในสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 จนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ.1953 สำหรับคุณูปการสำคัญของลัทธิสตาลินมีดังนี้ คือ (1) วิธีการจัดชาวโซเวียตให้บรรลุถึงการการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม (2) จัดระบบการเกษตรแบบรวมศูนย์ (3) ป้องกันชาติจากการถูกนาซีโจมตี และ (4) บูรณะชาติที่ย่อยยับจากสงคราม สตาลินได้แสดงให้เห็นว่า ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ นอกจากจะดำเนินการได้ตามแนวทางของลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนินนี้แล้ว ก็ยังสามารถทำได้โดยวิธีอื่น คือการยึดครองทางทหารโดยมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ (อย่างในกรณีที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็ช่วยให้บรรลุเป้าหมายคือการได้ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ หากกรณีแวดล้อมเอื้ออำนวย ว่ากันจริง ๆ แล้ว สตาลินมีคุณูปการน้อยต่อหลักนิยมคอมมิวนิสต์ มีการจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในการตีความลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนิน เพื่อนำไปใช้กับสภาพแวดล้อมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในยุคของเขาเท่านั้นเอง

ความสำคัญ พวกที่เข้ามารับช่วงอำนาจต่อจากสตาลิน ได้ทำการรื้อโครงการของเลนินเสียสิ้น และลัทธิสตาลินนี้ก็ได้ถูกประณามว่าเป็นลัทธิที่ส่งเสริมแนวการปกครองแบบ "ยึดตัวบุคคลเป็นหลัก" เป็นการปกครองแบบเผด็จการโดยบุคคลคนเดียว ยึดหลักการคนทำผิดไม่ได้ ทำการสถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำการกำจัดพวกที่ถูกระแวงว่าจะเป็นฝ่ายตรงกันข้าม โดยวิธีการกวาดล้าง และใช้ตำรวจลับ มีการจองจำคุมขังพวกที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองนับจำนวนไม่ถ้วนในค่าย "กูลัก" แนวความคิดต่าง ๆ ที่พัฒนาและนำไปใช้ในสหภาพโซเวียตโดยสตาลิน ซึ่งมีผลกระทบต่อหลักนิยมคอมมิวนิสต์นั้นมีดังนี้ คือ (1) แนวความคิดเรื่อง "สังคมนิยมในประเทศเดียว" (2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (3) เกษตรแบบรวมศูนย์และ (4) เขียนรัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับปี ค.ศ. 1936 ถึงจะมีการประณามลัทธิสตาลินนี้อย่างไร แต่ว่าการประยุกต์ใช้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ทั้งในแง่ทฤษฎีและในแง่ปฏิบัติต่าง ๆ ที่ดำเนินการกว่า 30 ปี ในช่วงการปกครองของสตาลินนี้ ก็ยังคงเป็นพื้นฐานของหลักนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี้อยู่

No comments:

Post a Comment