Google

Saturday, October 17, 2009

Democracy : ประชาธิปไตย

อุดมการณ์อย่างหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยอิงอาศัยค่านิยมในทางเสรีนิยม กล่าวคือ ให้มีเสรีภาพส่วนบุคคล ให้มีความเท่าเทียมกัน ให้มนุษย์มีเกียรติภูมิและมีภราดรภาพ ให้รัฐบาลใช้อำนาจจำกัด ให้ยึดหลักนิติธรรม และให้ใช้กระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีนักปรัชญาทางการเมืองหลายต่อหลายท่านนับตั้งแต่อาริสโตเติลเป็นต้นมา ได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยสร้างหรือมีคุณูปการต่ออุดมการณ์ของประชาธิปไตยนี้ก็จริง แต่ว่ารากฐานของหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักเสรีนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในทางทฤษฎีให้เป็นระบบที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติการได้ บุคคลสำคัญซึ่งมีส่วนในการสร้างทฤษฎีประชาธิปไตยในห้วงเวลาดังกล่าว ก็ได้แก่ เจมส์ แฮร์ริงตัน, จอห์น ล็อค, จาง จาคส์ รุสโซ,โธมัส เจฟเฟอร์สัน, โธมัส เพน, เจเรมี เบ็นธัม, เจมส์ มิลล์, จอห์น สจ๊วต มิลล์, และอะเล็กซิส เดอ ทอคคูวิลล์ ครั้นมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลักการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น คือได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ยึดรูปแบบและหลักการทางกฎหมายไปสู่อุดมการณ์ที่สมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่กล่าวถึงแนวความคิดที่จะสร้างสังคม "ดีที่สุด" ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่การมีเสรีภาพส่วนบุคคล ให้ความเอื้ออาทรแก่สังคม และให้มนุษย์มีเกียรติภูมิ ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชาธิปไตย (ซึ่งนับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีความสัมพันธ์กับเสรีภาพทางเศรษฐกิจภายใต้ลัทธินายทุนในแบบเสรีนิยม) ก็ได้ปรับแต่งตัวเองใหม่เป็นแบบให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมบางอย่างที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม นักทฤษฎีที่มีงานเขียนที่ให้การสนับสนุนบทบาทอันนี้ของภาครัฐบาล ได้แก่ แอล.ที.ฮอบเฮาส์, จอห์น ดิวอี และโยเซฟ ชุมปีเตอร์ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงมีลักษณะของทฤษฎีแนวความคิดและหลักปฏิบัติต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งสามารถตีความและนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ได้ปฏิเสธลัทธิและความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีสามารถกำหนดได้ทั้งในแง่จุดมุ่งหมายและในแง่วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีประชาธิปไตยก็ยังมีสมมติฐานด้วยว่าปัจเจกชนสามารถใช้วิจารณญาณในนโยบายทางสังคมได้ และว่าสังคมที่มีเสรีภาพนั้น จะช่วยจัดหาสภาพแวดล้อมดีที่สุด เพื่อสร้างสรรค์สถาบันทางสังคมและสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้ ในทางการเมืองนั้น ประชาธิปไตยนี้ก็ได้เน้นที่ ให้ยึดหลักการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ให้อธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ให้ข้าราชการหรือข้ารัฐการมีความรับผิดชอบ ให้มีการประกันเสรีภาพส่วนบุคคล และให้มีการยึดหลักนิติธรรม ซึ่งหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังคงเป็นหัวใจของอุดมการณ์ประชาธิปไตยนี้อยู่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ก็ได้มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในหมู่รัฐประชาธิปไตย และนอกจากนี้แล้ว ก็มีนักทฤษฎีบางรายได้ให้ความสนใจที่จะขยายหลักการเหล่านี้ให้มีความกว้างไกลออกไปอีกด้วย
.
ความสำคัญ นับแต่ที่ได้เกิดการปฏิวัติใหญ่ในอเมริกาและในฝรั่งเศสเป็นต้นมา อุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ได้เกิดการต่อสู้กับระบบการเมืองที่เป็นคู่แข่งผ่านมาแล้วหลายระบบด้วยกัน ที่สำคัญก็คือ ระบบราชาธิปไตยที่ยึดหลักการเทวสิทธิ์ของพระราชา ระบบอภิชนาธิปไตยและระบบคณาธิปไตย ระบบฟัสซิสต์ที่มีหลักการว่ารัฐมีอำนาจทุกอย่าง และระบบคอมมิวนิสต์ที่ยึดหลักการใช้ความรุนแรง ถึงแม้จะมีหลายสังคมที่ได้ทดลองใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้แล้วไม่ยอมใช้อีกต่อไป นั้นก็เป็นเพราะสังคมเหล่านั้นไม่เข้าใจในหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการใช้เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยอย่างผิด ๆ หรือต้องการไปหาวิธีแก้ปัญหาของตนในรูปแบบอื่นที่ทำได้ฉับพลันและง่าย ๆ แต่จะถึงอย่างไรก็ตามที ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงเป็นที่สนใจของเหล่าปัญญาชนและมวลชนทั้งหลายอยู่ดี ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ได้เข้าไปเฟื่องฟูอยู่ในหมู่ประเทศประชาคมแอตแลนติกก็มี ในหมู่ประเทศเครือจักรภพของอังกฤษ และในประเทศกลุ่มยุโรปตะวันตก ซึ่งสภาพแวดล้อมในประเทศเหล่านี้มีความเกื้อกูลเป็นอย่างดี คือมีพื้นฐานทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรีก - โรมัน และศาสนายิว - คริสต์มาด้วยกันและได้ขัดเกลาระบบการปกครองแบบนี้โดยวิธีการลองผิดลองถูกทั้งทางภาคทฤษฎีและทางภาคปฏิบัติมานานเกือบสองศตวรรษมาแล้ว นอกจากนี้แล้วที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีประสิทธิผลเป็นพิเศษในดินแดนต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้น ก็อาจสัมพันธ์โยงใยกับเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของระบอบนี้ กล่าวคือ สังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับสูงมาก มีเอกฉันท์ทางค่านิยมพื้นฐาน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และคนมีการศึกษาดีและมีความรับผิดชอบสูง แต่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ จากการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างสองค่ายได้ทำให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างแนวความคิดของสังคมประชาธิปไตยกับแนวความคิดในทฤษฎีคอมมิวนิสต์ สมรภูมิของการแข่งขันกันครั้งนี้ อยู่ที่ชาติต่าง ๆ ในกลุ่มโลกที่สามซึ่งมีจำนวนราว 130 ชาติ ซึ่งในหมู่ชาติต่าง ๆ เหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยเพิ่งได้เอกราชมาใหม่ ๆ หลังจากที่เคยตกเป็นอาณานิคมอยู่นานนับเป็นร้อย ๆ ปี

No comments:

Post a Comment