Google

Saturday, October 17, 2009

Democratic Theory : Constitutionalism ทฤษฎีประชาธิปไตย : คตินิยมรัฐธรรมนูญ

แนวความคิดขั้นพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยถูกจำกัดในเรื่องของอำนาจ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้อำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามที่กฎหมายอนุญาตไว้เท่านั้น ข้อจำกัดสำคัญของคตินิยมรัฐธรรมนูญนี้ จะมีการบรรจุไว้ในกฎบัตร หรือสัญญาขั้นพื้นฐาน ที่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็มี ที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ดี และได้ตราให้ไว้โดยได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการหรือความยินยอมโดยปริยายจากประชาชนของรัฐนั้น

ความสำคัญ หลักการของคตินิยมรัฐธรรมนูญที่นำมาใช้กับระบบการทำงานของรัฐบาลนั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย กับคุณสมบัติของระบบการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ในรัฐที่หลักการรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐานหลายอย่างมิได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเช่นในกรณีของบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) รัฐบาลจะถูกจำกัดโดยจารีตประเพณี และโดยสิ่งที่ประชาชนสามารถยอมรับได้โดยทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการพัฒนานโยบาย ซึ่งผ่านทางแง่มุมหลากหลายของกระบวนการทางการเมือง ส่วนในสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น จะทำหน้าที่เป็นข้อสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และโดยการใช้วิธีอำนาจทบทวนของศาล (เกี่ยวกับกฎหมายหรือการกระทำในทางปกครอง) นั้น กฎหมายและการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ล่วงล้ำก้ำเกินข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญศาลก็จะสามารถเพิกถอนได้ ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนหลักการที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่จำกัด และก็เป็นการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการควบคุมรัฐบาลโดยผ่านทางการเลือกตั้งและทางเทคนิควิธีทางการเมืองอื่น ๆ กระนั้นก็ดี ข้อจำกัดของรัฐบาลในรัฐต่าง ๆ ที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่นั้น ได้มีการยืดหยุ่นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าประชาชนไม่ค่อยจะให้ความสนใจในกระบวนการทางการเมือง ก็จึงทำให้รัฐบาลสามารถตีความกฎหมายขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างกว้าง ๆ แล้วนำมาเป็นกฎเกณฑ์บังคับและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน

No comments:

Post a Comment