Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Doctrine : Marxism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิมาร์กซิสต์

หลักทฤษฎีทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่พัฒนาขึ้นมาโดย คาร์ล มาร์กซ์ และเฟรดริช เองเกลส์ผู้ร่วมงานของเขา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ลัทธิมาร์กซิสต์นี้ได้เสนอปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ตามแนวทาง "วิทยาศาสตร์"อย่างลึกซึ้ง ที่ใช้อธิบายพัฒนาการของมนุษย์แบบวิภาษวิธีว่า เป็นลำดับการต่อสู้ระหว่างชนชั้นซึ่งในแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดระเบียบทางสังคมใหม่ขึ้นมา คาร์ล มาร์กซ์ เห็นว่า ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่จะต้องเดือดร้อนจากความขัดแย้งภายในจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่มีความรุนแรงและไม่สามารถเยียวยาได้ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพเพื่อทำลายล้างชนชั้นกระฎุมพี ต่อจากนั้นก็จะถึงช่วง "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ที่พวกนายทุนจะถูกริบทรัพย์สินและอำนาจทั้งปวง ส่วนที่ดินและปัจจัยการผลิตต่างๆก็จะตกเป็นของชาติทั้งหมด และการแตกต่างทางชนชั้นก็จะถูกกำจัดจนหมดสิ้น มาร์กซ์บอกว่า จากนั้นรัฐก็จะ "ฝ่อ, ห่อเหียว, ร่วงโรย" ไปเอง และก็จะถึงขั้นสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ซึ่งผู้คนจะอยู่ในสังคมที่สมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่มีชนชั้น และไม่มีรัฐ คนจะร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ แต่ละคนจะทำงานตามความสามารถ และได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็น แนวความคิดของมาร์กซ์ได้พัฒนามาจากหนังสือของเขาชื่อ เดอะ คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1848 และจากงานเขียนสำคัญอีกชุดหนึ่งของเขาที่ชื่อ ดาส คาปิตัล ซึ่งเล่มแรกของหนังสือชุดนี้ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1867

ความสำคัญ ลัทธิมาร์กซิสต์มีผลกระทบอย่างล้ำลึกต่อประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะจากลัทธินี้เองจึงได้มีการพัฒนาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ที่ได้สอนหลักการและจัดหากองกำลังทั้งเปิดเผยและลับทำการท้าทายระบบต่าง ๆ ที่มีมาแต่เดิม จากความสำเร็จของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์แนวมาร์กซิสต์ในรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 และจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออก ในจีน เกาหลีเหนือ คิวบา เวียดนาม และรัฐต่าง ๆ ในกลุ่มโลกที่ 3 อีกหลายรัฐ ได้แบ่งโลกเรานี้ออกเป็น 2 ค่าย ที่แข่งขันกันทั้งทางด้านอุดมการณ์และทางการทหาร และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐทั้งหลายทั้งปวง บรรดาผู้นำของรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ได้ตีความและประยุกต์ใช้ลัทธิมาร์กซิสต์นี้ด้วยความยืดหยุ่นและไม่มีผู้นำคนใดปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซิสต์นี้เลย ถึงแม้ว่าสหภาพโซเวียต และรัฐคอมมิวนิสต์อื่น ๆ อีกหลายรัฐจะอ้างว่า ได้สถาปนาลัทธิสังคมนิยมได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะก้าวไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้น้อยเต็มที ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสหภาพโซเวียตมีชนชั้นนักปฏิบัติการและข้ารัฐการรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และกลไกของรัฐแทนที่จะ "ฝ่อ, ห่อเหี่ยว, ร่วงโรย"ไปอย่างที่ว่า ก็ยังคงมีพลังในการบังคับอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีมนุษยธรรมมากขึ้นกว่าสมัยที่อยู่ภายใต้การเผด็จการของลัทธิสตาลินก็ตาม ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในโลกปัจจุบันนี้ เป้าหมายหลักของการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐอุตสาหกรรมก้าวหน้า ไปสู่ชาติที่ด้อยพัฒนาแทน นอกจากนี้แล้ว ในการเรียกร้องนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงจากที่เคยยึดแบบเดิม ๆ ของลัทธิมาร์กซิสต์ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการขัดแย้งกันในหมู่นายทุน ไปเป็นการเสนอทางลัดในการสร้างความทันสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม ให้แก่ชาติด้อยพัฒนาเหล่านี้แทน

No comments:

Post a Comment