Google

Saturday, October 17, 2009

Atlantic Charter : กฎบัตรแอตแลนติก

ปฏิญญาร่วมที่ออกแถลงโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)แห่งอังกฤษ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1941 ภายหลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันบนเรือลำหนึ่งกลางมหาสมุทรแอตแลนติก กฎบัตรแอตแลนติกนี้ได้ประกาศหลักการต่าง ๆ ที่สองประเทศนี้ใช้นำทางเพื่อแสวงหาสันติภาพที่ยุติธรรมและโลกที่มีเสถียรภาพ ภายหลังจากที่ระบอบการปกครองของนาซีได้ถูกทำลายแล้ว หลักการต่าง ๆ ในกฎบัตรแอตแลนติก ได้แก่ (1) ให้มีเสรีภาพ 4 อย่าง คือ เสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว เสรีภาพที่ปลอดจากความต้องการ เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการนับถือศาสนา (2) ให้มีการใช้หลักการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองในการเปลี่ยนแปลงดินแดนทั้งปวง (3) ให้สิทธิแก่ประชาชนชาติต่าง ๆ ที่จะเลือกรูปแบบการปกครองของรัฐบาลที่พวกตนจะเข้าไปอยู่อาศัยด้วยนั้น (4) ให้มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการค้า และการหาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อความไพบูลย์ และให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันทางเศรษฐกิจในหมู่ชาติทั้งปวง (5) ให้มีสันติภาพพร้อมกับมีความมั่นคงสำหรับรัฐทั้งปวง (6) ให้มีเสรีภาพทางทะเล และ (7) ไม่ให้การสนับสนุนการใช้กำลัง ให้มีการสถาปนาระบบความมั่นคงร่วมกันเป็นการถาวร และให้มีการลดกำลังรบของทุกชาติที่คุกคามสันติภาพ

ความสำคัญ กฎบัตรแอตแลนติกนี้ มีลักษณะเหมือนกับโครงการ "โฟร์ทีนพ้อยท์" ที่ประกาศโดยประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คือใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อสำคัญอย่างหนึ่ง ที่มีเป้าหมายให้ไปกระตุ้นมวลชนให้หันมาสนับสนุนแนวทางของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎบัตรแอตแลนติกนี้มีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะคือเพื่อจะสยบความรู้สึกของคนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ยึดนโยบายแยกอยู่โดดเดี่ยวต่อไป เพราะว่าได้มีการประกาศกฎบัตรนี้ 4 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิลฮาร์เบอร์แล้วสหรัฐฯก็ได้เข้าร่วมในสงคราม หลักการต่าง ๆ ของกฎบัตรนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ที่เกี่ยวกับเสรีภาพ 4 อย่างนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางให้เป็นเป้าหมายของสงคราม แต่หลักการเหล่านี้ได้กลับกลายเป็นสิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในช่วงหลังสงคราม หลักการของกฎบัตรแอตแลนติกหลายข้อได้มีการนำไปปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น หลักการปกครองตนเองได้ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ความใฝ่ฝันของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมในอาณานิคมต่าง ๆ หลายล้านคนที่ต้องการได้เอกราชและมีรัฐเป็นของของตน ส่วนหลักการ"ระบบความมั่นคงร่วมกันที่ถาวร" นี้ก็ได้ก่อรูปเป็นองค์การสหประชาชาติ และหลักการการร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจก็ได้มีการส่งเสริมเป็นการใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อน กฎบัตรแอตแลนติกนี้ได้รับการกระตุ้นจากพวกที่ยึดแนวทางอุดมคติในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

Brainwashing : การล้างสมอง

เทคนิควิธีทางจิตวิทยา ที่นำมาใช้เพื่อปรับแนวความคิดของบุคคลเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแบบที่ได้ตั้งเกณฑ์เอาไว้แล้ว คำว่า "brainwashing" นี้ได้มาจากภาษาพูดในภาษาจีนที่เขียนตามคำอ่านว่า สี-เหน่า (แปลว่า ล้างสมอง) การล้างสมองนี้จะดำเนินการโดยให้มีการสารภาพความผิดเสียก่อนแล้วจากนั้นก็จะมีการใช้กระบวนการให้การศึกษาใหม่ วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดผลในการล้างสมองแก่บุคคลนั้นก็จะมีการใช้วิธีรุนแรงและผ่อนปรนผสานกันไป กับจะมีการสลับฉากด้วยการใช้วิธีการให้คุณและให้โทษทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอีกด้วย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้มีการออกแบบมาเพื่อให้บุคคลนั้นละทิ้งความคิดอ่านแบบเก่านั้นเสียก่อนแล้วต่อจากนั้นก็จะสร้างความคิดอ่านแบบใหม่ใส่เข้าไปไว้แทน

ความสำคัญ เทคนิควิธีการล้างสมองนี้ ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยพวกคนจีน เพื่อพร่ำสอนแนวความคิดความอ่านของมวลชนชาวจีนในช่วงหลังปี ค.ศ. 1949 ที่พวกคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองจีนแล้ว และในช่วงเกิดความขัดแย้งในสงครามเกาหลี พวกคนจีนก็ได้พยายามล้างสมองพวกเชลยศึกอเมริกันได้สำเร็จในบางราย มีเชลยศึกอเมริกันบางรายประกาศเลิกจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา ได้สารภาพบาปที่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม เช่น การทำสงครามเชื้อโรค เป็นต้น และพวกนี้ก็ได้เลือกที่จะขอลี้ภัยอยู่ในจีนแทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศสหรัฐอเมริกา การล้างสมองที่ใช้เป็นเทคนิควิธีสำหรับปรับค่านิยมใหม่ให้แก่บุคคลและเพื่อเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีของบุคคลนี้ จะมีผลอย่างไรบ้างนั้น ข้อนี้ยากที่จะประเมิน แม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางสงครามจิตวิทยาบางรายมีความเชื่อว่า การล้างสมองนี้สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางด้านอุดมการณ์มากยิ่งกว่าในการเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีต่อชาติของบุคคล

.Capitalism : ลัทธินายทุน

ทฤษฎีและระบบทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการประกอบการอิสระแบบเสรีนิยม ทฤษฎีลัทธินายทุนเรียกร้องให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและในปัจจัยการผลิต ให้มีระบบแข่งขันกันโดยมีกำไรมาเป็นตัวกระตุ้น ให้เอกชนมีส่วนริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ให้รัฐบาลขัดขวางในเรื่องของกรรมสิทธิ์ การผลิตและการค้า กับให้มีเศรษฐกิจแบบการตลาด คือ ให้เป็นระบบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอุปทานและอุปสงค์ นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีลัทธินายทุนนี้ก็ยังมีข้อสมมติฐานด้วยว่าหากปล่อยให้แรงงานและทุนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีและให้มีการค้าเสรีทั้งในตลาดภายในประเทศและในตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศและเกิดการชำนาญเฉพาะทางระหว่างชาติต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าลัทธินายทุนในบางรูปแบบจะมีอยู่ในสังคมมนุษย์ตลอดมาก็จริงแต่ทฤษฎีที่ซับซ้อนที่ใช้เป็นฐานรองรับลัทธินายทุนในสมัยใหม่เหล่านี้ ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาโดยพวกนักเศรษฐศาสตร์ในยุคคลาสสิก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง เวลท์ ออฟ เนชั่นส์ ของอาดัม สมิธ เมื่อปี ค.ศ. 1776

ความสำคัญ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่18 ต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่19 หลักการและแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ของลัทธิทุนนิยม รวมทั้งแนวความคิดทางประชาธิปไตยของเสรีนิยมทางการเมืองได้เข้ามาแทนที่ลัทธิพาณิชยนิยมและระบอบราชาธิปไตยที่มีมาแต่เดิม เมื่อรัฐบาลได้ทำการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศของลัทธิพาณิชยนิยมนี้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ได้เปิดทางให้แก่การประกอบการแบบเสรีนิยมโดยให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนให้มีการค้าอย่างเสรีเกิดขึ้นมาอีกด้วย ผลจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติทางการอุตสาหกรรมขึ้นมา คริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นศตวรรษแห่งผลพวงของลัทธิทุนนิยม และในขณะเดียวกันลัทธินี้ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างมากมาย ในบางรัฐการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของการขยายบทบาทของรัฐบาลในกิจการทางเศรษฐกิจ มีการให้เอกชนมามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสามารถริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐบาลที่ให้การสนับสนุนและสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาในระบบ "เศรษฐกิจผสม" ใหม่นี้ ส่วนในบางรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ ลัทธิทุนนิยมนี้ได้ถูกเข้าแทนที่โดยลัทธิสังคมนิยมหรือลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานให้รัฐเข้าควบคุมเศรษฐกิจและการค้าอย่างเคร่งครัด ในโลกปัจจุบันนี้ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตบางรายมีความเชื่อว่า ลักษณะขั้นพื้นฐานของลัทธิทุนนิยมที่ยึดหลักให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้เป็นการประกอบการแบบเสรีนิยมนี้ ได้ถูกบิดเบือนในรัฐประชาธิปไตยบางรัฐ โดยใช้สงครามเศรษฐกิจและการเกี่ยวโยงทางอำนาจระหว่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมกับฝ่ายรัฐบาล ส่วนในสหภาพโซเวียตและในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออก ก็ได้มีการปฏิรูปต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการไปลดบทบาทของรัฐบาลในการวางแผนและในการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และในขณะเดียวกันก็เป็นการไปช่วยสนับสนุนให้มีการใช้แรงจูงใจเรื่องผลกำไรกับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนและกับคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระดับอุดมการณ์นั้นก็จะเป็นการยากที่จะให้มีการยอมรับแนวความคิดของลัทธินายทุนนี้ในรัฐที่กำลังพัฒนาอีกหลาย ๆ รัฐ เพราะในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีระบบที่ให้เอกชนได้เข้ามาเป็นผู้ริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ค่อยมีการออม และไม่ค่อยมีตลาดผู้บริโภคมากนัก ส่วนในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์บางรัฐ อย่างเช่น จีนและฮังการี ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมนิยมในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ที่ให้รัฐมีบทบาทควบคุมนี้ โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่าง ๆ ด้วยการยอมให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการทางเศรษฐกิจและให้นำระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มาใช้แทนระบบที่รัฐบาลทำการควบคุมและปฏิบัติการเสียเองอย่างแต่ก่อน

Communism : ลัทธิคอมมิวนิสต์

อุดมการณ์ที่เรียกร้องให้กำจัดสถาบันต่าง ๆ ของพวกนายทุน แล้วสถาปนาสังคมรวมอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา ซึ่งให้ที่ดินและทุนตกเป็นของสังคมส่วนรวม ให้เป็นสังคมที่จะไม่มีการขัดแย้งระหว่างชนชั้น และจะไม่มีการใช้อำนาจบังคับของรัฐอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางการเมืองหลายท่านนับแต่ยุคสมัยเพลโตเป็นต้นมา จะได้พัฒนาทฤษฎีที่รวมเอารูปแบบหลากหลายของลัทธิคอมมิวนิสต์มาก็จริง แต่หลักการของคอมมิวนิสต์สมัยใหม่เพิ่งจะได้มีการตั้งกันขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เอง โดยนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปหลายท่าน เป็นต้นว่า ฟรังซัว ฟูเรียม, โรเบิร์ต โอเวน, คลาวด์ เซนต์-ซีมอน เป็นต้น แต่ว่าคาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดริช เองเกลส์ ไม่ยอมรับนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปเหล่านี้โดยมองว่าคนพวกนี้รวมทั้งพวกคอมมิวนิสต์สายศาสนจักร ล้วนแต่เป็นพวก "ยูโทเปีย" (พวกเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ) จึงได้วางแบบหลักนิยมที่เรียกว่า "สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" ขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักการที่ได้กลายเป็นรากฐานของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี่เอง มีนักทฤษฎีและผู้นำทางการเมืองคอมมิวนิสต์หลายท่านนับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้ช่วยกันตีความ ดัดแปลง และแต่งเติมเสริมต่อ ให้แก่ทฤษฎีคอมมิวนิสต์เหล่านี้ แต่ผู้ที่มีคุณูปการที่สำคัญมากที่สุดต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์นี้ ก็ได้แก่ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน, โยเซฟ สตาลิน, ลีออง ทรอสกี, เหมาเจ๋อตง, และโยซิป บรอซ ติโต แต่คนที่พวกคอมมิวนิสต์ ถือว่ามีคุณูปการมากที่สุด คือ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน ลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนินได้ให้การสนับสนุนปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ที่บอกไว้ว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากลัทธินายทุนไปสู่ลัทธิสังคมนิยมแน่ ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย เนื่องจากเป็นผลของความขัดแย้งภายในที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนนิยมนั่นเอง ในหลักการของคอมมิวนิสต์ได้บอกไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนดังว่าจะก่อให้เกิดสงครามทางชนชั้น และเกิดการแข่งขันกันในทางจักรวรรดินิยมและการล่าเมืองขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการล้มล้างเหล่ากระฏุมพีผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหลาย โดยการปฏิวัติของพวกชนชั้นกรรมาชีพ ต่อจากนั้นโครงการทางสังคมนิยม ที่ดำเนินการภายใต้ระบบ"เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" จะนำไปสู่การยุติสงครามชนชั้น ทำการขจัดความจำเป็นที่จะมีรัฐคงอยู่ออกไป และนำสังคมไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ คือขั้นตอนที่ไม่ต้องมีชนชั้นและไม่ต้องมีรัฐ

ความสำคัญ นับแต่ที่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต เมื่อปี ค.ศ. 1848 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิคอมมิวนิสต์แนวมาร์กซิสต์นี้ เป็นแค่เรื่องที่นำมาพูดคุยกันในวงการนักวิชาการ และเป็นเพียงหลักนิยมที่สนับสนุนนักก่อกวนที่ไม่บรรลุผลสำเร็จในหลายประเทศ ครั้นเมื่อกองทัพและสังคมรัสเซียถึงแก่การล่มสลายเมื่อ ค.ศ. 1917 นั้นแล้วก็เป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้คณะปฏิวัติบอลเชวิกและพวกคอมมิวนิสต์ได้ "สร้างสังคมนิยมในประเทศหนึ่ง" ได้สำเร็จ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง ค.ศ. 1949 อันเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น การเข้ายึดครองดินแดนของกองทัพแดงทำให้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์มีอำนาจในยุโรปตะวันออกและในเกาหลีเหนือ ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ในยูโกสลาเวียและจีนผืนแผ่นดินใหญ่ได้ชัยชนะด้วยกำลังของตนเอง โลกคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 นี้ ตามสายตาของนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกหลายท่านบอกว่า มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ครั้นต่อมาถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ก็ได้เกิดการแตกแยกครั้งสำคัญระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต กับทั้งรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกก็ได้มีอิสระมากยิ่งขึ้น โดยอิงอาศัยแม่แบบของลัทธิติโตหรือแม่แบบลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติในยูโกสลาเวีย แต่ทว่าการแตกแยกในทางหลักการสำคัญ ๆ ระหว่างหมู่นักทฤษฎีและนักยุทธศาสตร์คอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 เป็นต้นมานั้น เป็นเรื่องในประเด็นที่ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิชาตินิยมเกื้อกูลซึ่งกันและกันหรือไม่ หรือในประเด็นที่ว่า อุดมคติของ "ลัทธินานาชาตินิยมของชนชั้นกรรมาชีพ" และการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติทั่วโลกนี้ ควรจะมาก่อนการพัฒนาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแห่งชาติหรือไม่ พวกนักปฏิบัติการและข้ารัฐการรุ่นใหม่ในสหภาพโซเวียต และในรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ต่างก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น และพวกคนเหล่านี้ก็มีความประสงค์จะพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตลอดจนทำการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศของตนให้ดียิ่งขึ้น ในช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 พวกคอมมิวนิสต์จีนได้เกิดการขัดแย้งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายเคร่งหลักการในพรรคฯกับฝ่าย "ผู้จัดการ" ทำให้เกิด "ปฏิวัติวัฒธรรม" ภายใต้การนำของท่านประธานเหมาเจ๋อตง เพื่อคืนความบริสุทธิ์ให้แก่การปฏิวัติและเป้าหมายทางอุดมการณ์ของการปฏิวัตินี้ พวกผู้นำจีนต่างก็ได้ประณามพวกคอมมิวนิสต์สายโซเวียตและสายยุโรปตะวันออก ว่าเป็นพวก "ลัทธิแก้” ความแตกแยกระหว่างค่ายจีนกับค่ายโซเวียตครั้งนี้ เกี่ยวพันกับต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดการแตกแยกกันอย่างรวดเร็วเพราะแรงกระทบจากลัทธิชาตินิยมและลัทธิหลายศูนย์อำนาจ แต่หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของท่านประธานเหมาเจ๋อตงแล้ว พวกผู้นำจีนยุคใหม่ก็ได้เริ่มใช้กระบวนการทางเสรีนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ลัทธิมาร์กซิสต์ - ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ซึ่งมีหลักการสำคัญบอกไว้ว่า การปฏิวัติล้มล้างในหมู่รัฐนายทุนที่ถึงภาวะสุกงอมเต็มที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้นี้ ได้ถูกเข้ามาแทนที่โดยการเน้นที่จะหาทางพิสูจน์ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นระบบสังคมที่ประเสริฐกว่าในทางปฏิบัติ ยุทธวิธีการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในยุคปัจจุบันจึงได้มุ่งไปในทางให้การสนับสนุนแก่ขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ ในชาติที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย

Communist Doctrine : Gorbachevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิกอร์บาชอฟ

คุณูปการต่าง ๆ ต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี ค.ศ.1985 กอร์บาชอฟประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ได้เริ่มการปฏิรูปต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองเป็นการใหญ่ด้วยการใช้นโยบายแบบเสรีนิยม โดยอ้างว่าการปฏิรูปครั้งนี้สะท้อนให้เห็นแนวความคิดขั้นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้แก่ (1) มีการพยายามเพิ่มผลผลิตของกรรมกรด้วยการให้ลดการติดสุราและลดการขาดงานในสถานที่ทำงาน (2) มีการใช้นโยบาย "ร่วมทุน"อย่างจำกัด กับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ (3) ให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจและทางการพาณิชย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจมากขึ้น โดยปลอดจากการควบคุมทางการเมือง และให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (4) ส่งเสริมมาตรการบางอย่างในวิสาหกรรมภาคเอกชน และ (5) ให้ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดที่ยึดหลักอุปทานอุปสงค์เป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมัยกอร์บาชอฟนี้ เรียกในภาษารัสเซียว่า "กลาสนอสต์ (แปลว่า การเปิด)" และ "เปเรสทรอยกา (แปลว่า การบูรณะเศรษฐกิจ)" ส่วนสไตล์หรือรูปแบบของกอร์บาชอฟก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับสไตล์ของนักการเมืองฝ่ายตะวันตก คือ จะเสนอรายงานผ่านสื่อมวลชนสู่ประชาชนอยู่เนือง ๆ และก็ชอบเข้าไปคลุกคลีกับประชาชนชาวโซเวียตเพื่อรับรู้ความรู้สึกของคนในระดับล่าง ๆ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องต่าง ๆ ในขณะนั้น และเขาก็ยังมีแนวปฏิบัติอื่น ๆ คือ (1) มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายราย (2) มีการอนุญาตให้ตีพิมพ์งานเขียนต่าง ๆ ที่แต่เดิมห้ามมิให้มีการตีพิมพ์ และ (3) มีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในลักษณะที่มีการแข่งขันแบบประชาธิปไตยสำหรับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แม้ว่าโครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้ ในเนื้อหาและการนำไปใช้จะเกี่ยวกับกับเรื่องภายในประเทศเสียส่วนใหญ่ แต่ที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศได้เสนอให้มีการควบคุมอาวุธและลดกำลังรบ อย่างเช่นให้ใช้ระบบ "ซีโร-ออฟชั่น" เพื่อกำจัดอาวุธปล่อยพิสัยปานกลางออกจากยุโรป และเสนอให้มีสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

ความสำคัญ โครงการปฏิรูปในแบบเสรีนิยมที่ดำเนินการโดย มิคาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต เป็นการเบี่ยงเบนครั้งสำคัญจากลัทธิมากซิสต์-ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ที่ได้เกิดขึ้นนับแต่มีการปฏิวัติบอลเชวิก และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพวกคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1919 เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงเกิดการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาในหมู่ประเทศตะวันตก บ้างก็ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า โครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้จะอยู่รอดจากการรุมโจมตีจากฝ่ายที่เป็นศัตรูของโครงการ คือจากภายในของสหภาพโซเวียตเองและจากกลุ่มประเทศในกติกาสัญญาวอร์ซอได้หรือไม่ และถ้าหากว่าโครงการแบบเสรีนิยมของเขานี้ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตกกันแน่ และการที่สหภาพโซเวียตมีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยมและเป็นแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนี้ จะไปช่วยลดการคุกคามทั้งทางด้านการทหารและทางด้านอุดมการณ์ลงมาหรือไม่ คำถามต่าง ๆ ที่ว่ามานี้และรวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงคาดเดาต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ดี เรื่องแรงกระทบของลัทธิกอร์บาชอฟต่อสหภาพโซเวียต ต่อประเทศฝ่ายตะวันตก และต่อทั่วทั้งโลก จะเป็นอย่างไรและมีมากขนาดไหน ยังเป็นปริศนาที่ดำมืดอยู่ต่อไป โครงการ "กลาสนอสต์" และ "เปเรสทรอยกา" ในสหภาพโซเวียตมีความละม้ายคล้ายคลึงกับขบวนการเสรีนิยมที่เริ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ค.ศ. 1977 โดย เติ้งเสี่ยวผิง

Communist Doctrine : Khrushchevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิครุชชอฟ

คุณูปการของ นิกิตา เอส. ครุชชอฟ ที่มีต่อลัทธิมาร์กซิสต์ -ลัทธิเลนิน และต่อการประยุกต์ใช้หลักนิยมคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต ลัทธิครุชชอฟนี้ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นปีที่ครุชชอฟเริ่มปรากฏตัวเป็นผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาในการแก่งแย่งอำนาจกันในยุคหลังสตาลิน จวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1963 อันเป็นปีที่ครุชชอฟถูกถอดออกจากอำนาจโดยอีกกลุ่มหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งนำโดย เลโอนิด ไอ. เบรซเนฟ และ อเล็กไซ โคซีกิน ครุชชอฟผู้นี้เริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แทนโยเซฟ สตาลิน ที่ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1953 เขาเริ่มเข้ากุมอำนาจเมื่อปี ค.ศ.1958 ซึ่งเขาได้ได้ถอด นิโคไล เอ. บุลกานิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาเองก็ได้เข้ารับตำแหน่งนี้แทน ส่วนคุณูปการต่าง ๆ ของครุชชอฟที่มีต่อหลักการคอมมิวนิสต์เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้คือ (1) มีการปฏิเสธหลักการ "ยึดตัวบุคคล" ของสตาลิน แล้วได้หันกลับมาใช้แนวทางแบบผู้นำร่วมของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินที่ "แท้ ๆ " (2) มีการประกาศใช้หลักการและนโยบาย"การอยู่ร่วมกันโดยสันติ" ระหว่างหมู่รัฐคอมมิวนิสต์กับหมู่รัฐนายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้เรียกร้องให้ทำ "สงครามปลดปล่อยแห่งชาติ"ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (3)มีการประณามลัทธิเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จของสตาลิน และได้ดำเนินนโยบายที่มีลักษณะทรราชย์น้อยลงมาบ้างในสหภาพโซเวียต (4) มีการกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนเป็นครั้งแรกไว้สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์แล้วได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากรัฐสังคมนิยมนี้ไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี (5) มีการประกาศว่า ถึงแมัว่าชนชั้นและรัฐจะ "ห่อเหี่ยวร่วงโรย" ไปหมดแล้วก็ตาม แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะยังคงเป็นพลังชี้นำในสังคมอนาคตอยู่ต่อไป และ (6)มีการพัฒนาหลักการทางยุทธวิธีที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะต้องเอาชนะลัทธินายทุนนิยมด้วยการแข่งขันกันโดยสันติวิธีในโลก ทั้งนี้โดยวิธีพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นระบบสังคมและระบบการผลิตที่สูงส่งกว่าระบบทุนนิยม

ความสำคัญ คุณูปการต่าง ๆ ของลัทธิครุชชอฟ ที่มีต่อหลักการและหลักปฏิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ เป็นผลพวงมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่ผู้นำโซเวียตช่วงยุคหลังสตาลินเผชิญหน้าอยู่ ยกตัวอย่างเช่น มีการตึงเครียดเกิดขึ้นเพราะผลมาจากการใช้วิธีการแบบเผด็จการกดขี่บังคับ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพในสังคมโซเวียตและสังคมในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก พอครุชชอฟก้าวขึ้นสู่อำนาจก็ได้ประณามยุคของสตาลินว่าเป็นยุคแห่งความกลัว แม้ว่าตัวครุชชอฟเองจะมีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็ตาม แต่พอถึงทีตัวเองมีอำนาจบ้าง ครุชชอฟก็ได้หันเข้าหาวิธีการปกครองแบบใหญ่คนเดียวบ้าง และต่อมาเขาเองก็ได้ถูกพวกที่เข้ารับช่วงอำนาจต่อประณามว่าเป็นพวก "ยึดหลักบุคคล" อีกเหมือนกัน ในด้านกิจการต่างประเทศนั้น ครุชชอฟก็ได้ยอมรับว่า ได้มีการปฏิวัติทางอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นมาพร้อม ๆกันจึงทำให้สงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกพ้นสมัยไปแล้ว แต่ทว่าสภาวะความไม่มั่นคงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชาติต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา สร้างโอกาสให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบ โดยครุชชอฟได้เสนอให้ใช้วิธีการ "ทางลัด" แบบสังคมนิยมในการพัฒนาและการสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ว่าครุชชอฟจะมิได้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินก็จริง แต่ว่าการตีความและการประยุกต์ใช้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ของผู้นำโซเวียตในช่วงยุคครุชชอฟนี้ ก็ได้ส่งผลให้มีการเน้นย้ำในเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลให้มีการทบทวนนโยบายคอมมิวนิสต์ที่มีมาแต่เดิม ตลอดจนเกิดผลให้มีความแตกแยกครั้งสำคัญในโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างฝ่ายสหภาพโซเวียตกับฝ่ายจีน

Communist Doctrine : Leninism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิเลนิน

การตีความทางทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติซึ่งหลักนิยมมาร์กซิสต์ ที่เป็นคุณูปการต่ออุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ของ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย คุณูปการที่สำคัญ ๆ ของลัทธิเลนิน มีดังนี้ คือ (1) ทฤษฎีที่ว่าจักรวรรดินิยมซึ่งเป็นขั้นตอนสูงสุดของการผูกขาดในลัทธินายทุนนี้ เป็นผลมาจากความขัดแย้งในลัทธินายทุนเอง ที่บีบบังคับให้พวกนายทุนและพวกพ่อค้าต้องหาดินแดนในต่างประเทศเพื่อหาทางระบายเงินลงทุนและผลผลิต และเพื่อนำวัตถุดิบที่มีอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของโลกให้มาอยู่ในการควบคุมของฝ่ายตน (2) ทฤษฎีที่ว่าการแข่งขันในทางจักรวรรดินิยมระหว่างรัฐนายทุนต่าง ๆ จะเป็นเหตุให้เกิดสงคราม (3) ทฤษฎีที่ว่า การปฏิวัติสามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่ในสังคมแบบอาณานิคมในช่วงก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นระบบทุนนิยม ไม่ว่าสังคมนั้นจะยังมีสภาพป่าเถื่อนอยู่ขนาดไหนก็ตาม (4) มีการให้คำจำกัดความใหม่กับแนวความคิดการปฏิวัติของลัทธิมาร์กซิสต์ โดยให้รวมถึงกรณีเกิดความวิบัติภายในชาติที่ชนชั้นปกครองไม่สามารถจัดการใด ๆ ได้ หรือในกรณีที่ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่องไม่พอใจต่อรัฐบาลนั้นด้วย และ (5) บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ (โดยการนำของชนชั้นหัวกะทิกลุ่มเล็ก ๆ แต่อุทิศตนเพื่อการปฏิวัติ) ในการนำการปฏิวัติและทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเพื่อให้หลักการ "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" นี้เกิดได้จริง เลนินเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม แนวความคิดสำคัญ ๆ ของเขาจะพบได้ในหนังสือต่อไปนี้ : วอท อีส ทู บี ดัน ?" (ปี ค.ศ.1902), อิมพีเรียลิสม์:เดอะ ไฮเอสต์ สเต็จ ออฟ แคปิตลิสม์" (ปี ค.ศ. 1917), และ สเต็ต แอนด์ เรฟโวรูชั่น (ปี ค.ศ. 1918)

ความสำคัญ คุณูปการของลัทธิเลนิน ทั้งในด้านทฤษฎีและด้านหลักปฏิบัติที่มีต่อหลักการคอมมิวนิสต์นี้ มีอยู่อย่างล้นเหลือเลยทีเดียว จนถึงกับว่าพวกคอมมิวนิสต์เรียกกรอบความคิดในทางอุดมการณ์ของพวกเขาว่าลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน ในฐานะที่เป็นนักทฤษฎี เลนินเห็นการไกลว่าจะเกิดการปฏิวัติทำลายล้างตัวเองกระจายไปทั่วทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา และเขาได้พยากรณ์ไว้ว่า จะมีการสู้รบกันในดินแดนกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในรูปแบบที่ต่อมา นิกิตา ครุชชอฟ เรียกว่า "สงครามปลดปล่อยแห่งชาติ" ส่วนในฐานะที่เป็นนักก่อการปฏิวัติ เลนินได้ทำการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง และได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งปวงของพวกคอมมิวนิสต์และของใครก็แล้วแต่ ที่ต้องการให้หันไปใช้แนวทางของ "ลัทธิค่อยเป็นค่อยไป" และ "ลัทธิแก้" อย่างไรก็ดี คุณูปการที่สำคัญยิ่งของเลนิน ก็คือ การเป็นผู้นำทางการเมืองฝ่ายปฏิบัติการ เขาได้นำคนรัสเซียฟันฝ่าออกจากความหายนะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และในสงครามกลางเมือง ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดระบบการเมือง การเศรษฐกิจ และการสังคมให้แก่ชาติเสียใหม่ และก็เป็นผู้วางแนวช่วง
ทางปฏิบัติให้แก่ลัทธิสังคมนิยมจนสามารถทำให้สหภาพโซเวียตได้เป็นหนึ่งในอภิมหาอำนาจใน ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20

Communist Doctrine : Maoism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิเหมาเจ๋อตง

การตีความลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน และนโยบายต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาและปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้กระทำ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานเหมาเจ๋อตง รากฐานทางทฤษฎีของลัทธิเหมาเจ๋อตงนี้ มีปรากฏอยู่ในคำพังเพยต่าง ๆ ในหนังสือเรื่อง โคเทชันส์ ฟรอม แชร์แมน เหมาเจ๋อตง ที่มีการเผยแพร่เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง คุณูปการทางด้านทฤษฎีของเหมาเจ๋อตง ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ คือ (1) ทฤษฎีการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจรในหมู่ประเทศเกษตกรรมที่เป็นอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของพวกชาวไร่ชาวนา (2) คำนิยามของลัทธิประชาธิปไตยรวมศูนย์ ในแง่ของจีนนั้นหมายถึงการให้ประชาชนมีเสรีภาพและมีประชาธิปไตยแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมตนอยู่ภายใต้ "ระเบียบวินัยของสังคม" (3) นิยาม "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ของมาร์กซ์ในสถานการณ์ของจีนนั้น หมายถึง "เผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน" นำโดยชนชั้นกรรมกรและตั้งอยู่บนรากฐานของการเป็นพันธมิตรระหว่างกรรมกรกับชาวไร่ชาวนา (4) ทฤษฎีที่ยอมรับว่ามีความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยมของประชาชน เช่นเดียวกับที่มีความขัดแย้งระหว่างสังคมนิยมนี้กับพวกศัตรูที่เป็นนายทุน (5) ปฏิเสธคำเรียกร้องทางอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตที่ให้มี "การอยู่ร่วมกันโดยสันติ" แต่ให้ใช้หลักการ "ทำการปฏิวัติถาวร" ทั่วโลก ต่อฐานที่มั่นที่ยังเหลืออยู่ของลัทธิทุนนิยม และ (6) ปฏิเสธความรีบด่วนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีทางวัตถุ แต่ให้คงความบริสุทธิ์ของการปฏิวัติเอาไว้ และให้สร้าง"คนจีนใหม่" กับสังคมใหม่ที่ปลอดจากความขัดแย้งทั้งปวง

ความสำคัญ ลัทธิเหมาเจ๋อตงมีวิวัฒนาการมาจากการตีความและการประยุกต์ใช้หลักการของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน ตามแบบฉบับของจีน โดยบรรดาผู้นำคอมมิวนิสต์จีนในห้วงเวลา 50 ปีที่เหมาเจ๋อตง เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่นั้น เหตุการณ์สำคัญ ๆ ของการช่วงชิงอำนาจอันยาวนานที่ประกอบเป็นธรรมชาติของลัทธิเหมามีดังต่อไปนี้ (1) ช่วงต้น ๆ ของสงครามกลางเมืองระหว่างปี ค.ศ.1928 - 1934 (2) ช่วงลองมาร์ช(การเดินทางยาวนาน) เดือนมีนาคม ระหว่างปี ค.ศ. 1934 - 1935 (3) ช่วงต่อสู้กับญี่ปุ่นและเป็นพันธมิตรกับเจียงไคเช็กระหว่างปี ค.ศ. 1937 - 1945 (4) เกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1946 และ (5) ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 การพัฒนานโยบายของเหมาเจ๋อตงภายหลังปี ค.ศ. 1949 เฉพาะที่สัมพันธ์กับทฤษฎีคอมมิวนิสต์มีดังนี้ (1) มีการรณรงค์"ร้อยมวลบุปผา" ในช่วงสั้น ๆ เพื่อให้มีการอภิปรายโดยเสรีในกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ.1950 (2) มีโครงการพัฒนาการก้าวกระโดดไปข้างหน้า และมีการจัดตั้งคอมมูนต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1958 (3) เกิดการแก่งแย่งกับสหภาพโซเวียตเพื่อความเป็นผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์โลก และการแตกแยกในกระบวนการคอมมิวนิสต์สากลระหว่างต้นทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 (4) เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเมื่อปี ค.ศ. 1967 ระหว่างนักปฏิบัติการฝ่ายหนึ่งกับนักอุดมการณ์นำโดยประธานเหมาเจ๋อตงอีกฝ่ายหนึ่ง (5) เกิดยุคผ่อนคลายความตึงเครียดในทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 ระหว่างจีนกับฝ่ายตะวันตก นำไปสู่การรับจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และจีนได้รับการรับรองทางการทูตจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ถึงแม้ว่าหลักการของลัทธิเหมาเจ๋อตงส่วนใหญ่จะได้มาจากมาร์กซ์, เองเกลส์, เลนิน และทรอสกี แต่พวกผู้นำจีนต่างก็อ้างว่า การตีความ การดัดแปลง และการประยุกต์ใช้หลักนิยมของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน ที่ได้ดำเนินการภายใต้การชี้นำของประธานเหมาเจ๋อตงนี้ เป็นสิ่งที่มาเติมหลักการเดิมของจีน แต่หลังจากประธานเหมาเจ๋อตงถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1976 แล้ว หลักการทางอุดมการณ์ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของประธานเหมาเจ๋อตงหลายอย่างได้ถูกปฏิเสธจากพวกผู้นำจีนยุคใหม่ภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง

Communist Doctrine : Marxism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิมาร์กซิสต์

หลักทฤษฎีทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่พัฒนาขึ้นมาโดย คาร์ล มาร์กซ์ และเฟรดริช เองเกลส์ผู้ร่วมงานของเขา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ลัทธิมาร์กซิสต์นี้ได้เสนอปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ตามแนวทาง "วิทยาศาสตร์"อย่างลึกซึ้ง ที่ใช้อธิบายพัฒนาการของมนุษย์แบบวิภาษวิธีว่า เป็นลำดับการต่อสู้ระหว่างชนชั้นซึ่งในแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดระเบียบทางสังคมใหม่ขึ้นมา คาร์ล มาร์กซ์ เห็นว่า ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่จะต้องเดือดร้อนจากความขัดแย้งภายในจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่มีความรุนแรงและไม่สามารถเยียวยาได้ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพเพื่อทำลายล้างชนชั้นกระฎุมพี ต่อจากนั้นก็จะถึงช่วง "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ที่พวกนายทุนจะถูกริบทรัพย์สินและอำนาจทั้งปวง ส่วนที่ดินและปัจจัยการผลิตต่างๆก็จะตกเป็นของชาติทั้งหมด และการแตกต่างทางชนชั้นก็จะถูกกำจัดจนหมดสิ้น มาร์กซ์บอกว่า จากนั้นรัฐก็จะ "ฝ่อ, ห่อเหียว, ร่วงโรย" ไปเอง และก็จะถึงขั้นสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ซึ่งผู้คนจะอยู่ในสังคมที่สมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่มีชนชั้น และไม่มีรัฐ คนจะร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ แต่ละคนจะทำงานตามความสามารถ และได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็น แนวความคิดของมาร์กซ์ได้พัฒนามาจากหนังสือของเขาชื่อ เดอะ คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1848 และจากงานเขียนสำคัญอีกชุดหนึ่งของเขาที่ชื่อ ดาส คาปิตัล ซึ่งเล่มแรกของหนังสือชุดนี้ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1867

ความสำคัญ ลัทธิมาร์กซิสต์มีผลกระทบอย่างล้ำลึกต่อประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะจากลัทธินี้เองจึงได้มีการพัฒนาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ที่ได้สอนหลักการและจัดหากองกำลังทั้งเปิดเผยและลับทำการท้าทายระบบต่าง ๆ ที่มีมาแต่เดิม จากความสำเร็จของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์แนวมาร์กซิสต์ในรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1917 และจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออก ในจีน เกาหลีเหนือ คิวบา เวียดนาม และรัฐต่าง ๆ ในกลุ่มโลกที่ 3 อีกหลายรัฐ ได้แบ่งโลกเรานี้ออกเป็น 2 ค่าย ที่แข่งขันกันทั้งทางด้านอุดมการณ์และทางการทหาร และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐทั้งหลายทั้งปวง บรรดาผู้นำของรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ได้ตีความและประยุกต์ใช้ลัทธิมาร์กซิสต์นี้ด้วยความยืดหยุ่นและไม่มีผู้นำคนใดปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซิสต์นี้เลย ถึงแม้ว่าสหภาพโซเวียต และรัฐคอมมิวนิสต์อื่น ๆ อีกหลายรัฐจะอ้างว่า ได้สถาปนาลัทธิสังคมนิยมได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะก้าวไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้น้อยเต็มที ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสหภาพโซเวียตมีชนชั้นนักปฏิบัติการและข้ารัฐการรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และกลไกของรัฐแทนที่จะ "ฝ่อ, ห่อเหี่ยว, ร่วงโรย"ไปอย่างที่ว่า ก็ยังคงมีพลังในการบังคับอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีมนุษยธรรมมากขึ้นกว่าสมัยที่อยู่ภายใต้การเผด็จการของลัทธิสตาลินก็ตาม ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในโลกปัจจุบันนี้ เป้าหมายหลักของการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐอุตสาหกรรมก้าวหน้า ไปสู่ชาติที่ด้อยพัฒนาแทน นอกจากนี้แล้ว ในการเรียกร้องนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงจากที่เคยยึดแบบเดิม ๆ ของลัทธิมาร์กซิสต์ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการขัดแย้งกันในหมู่นายทุน ไปเป็นการเสนอทางลัดในการสร้างความทันสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม ให้แก่ชาติด้อยพัฒนาเหล่านี้แทน

Communist Doctrine : Stalinism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิสตาลิน

การตีความทางทฤษฎีและการประยุกต์ในทางปฏิบัติของหลักนิยมมาร์กซิสต์ส่วนที่เป็นคุณูปการโดยโยเซฟ สตาลิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจครอบงำพรรคคอมมิวนิสต์และกลไกของรัฐบาลในสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 จนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ.1953 สำหรับคุณูปการสำคัญของลัทธิสตาลินมีดังนี้ คือ (1) วิธีการจัดชาวโซเวียตให้บรรลุถึงการการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม (2) จัดระบบการเกษตรแบบรวมศูนย์ (3) ป้องกันชาติจากการถูกนาซีโจมตี และ (4) บูรณะชาติที่ย่อยยับจากสงคราม สตาลินได้แสดงให้เห็นว่า ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ นอกจากจะดำเนินการได้ตามแนวทางของลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนินนี้แล้ว ก็ยังสามารถทำได้โดยวิธีอื่น คือการยึดครองทางทหารโดยมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ (อย่างในกรณีที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็ช่วยให้บรรลุเป้าหมายคือการได้ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ หากกรณีแวดล้อมเอื้ออำนวย ว่ากันจริง ๆ แล้ว สตาลินมีคุณูปการน้อยต่อหลักนิยมคอมมิวนิสต์ มีการจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในการตีความลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนิน เพื่อนำไปใช้กับสภาพแวดล้อมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในยุคของเขาเท่านั้นเอง

ความสำคัญ พวกที่เข้ามารับช่วงอำนาจต่อจากสตาลิน ได้ทำการรื้อโครงการของเลนินเสียสิ้น และลัทธิสตาลินนี้ก็ได้ถูกประณามว่าเป็นลัทธิที่ส่งเสริมแนวการปกครองแบบ "ยึดตัวบุคคลเป็นหลัก" เป็นการปกครองแบบเผด็จการโดยบุคคลคนเดียว ยึดหลักการคนทำผิดไม่ได้ ทำการสถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำการกำจัดพวกที่ถูกระแวงว่าจะเป็นฝ่ายตรงกันข้าม โดยวิธีการกวาดล้าง และใช้ตำรวจลับ มีการจองจำคุมขังพวกที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองนับจำนวนไม่ถ้วนในค่าย "กูลัก" แนวความคิดต่าง ๆ ที่พัฒนาและนำไปใช้ในสหภาพโซเวียตโดยสตาลิน ซึ่งมีผลกระทบต่อหลักนิยมคอมมิวนิสต์นั้นมีดังนี้ คือ (1) แนวความคิดเรื่อง "สังคมนิยมในประเทศเดียว" (2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (3) เกษตรแบบรวมศูนย์และ (4) เขียนรัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับปี ค.ศ. 1936 ถึงจะมีการประณามลัทธิสตาลินนี้อย่างไร แต่ว่าการประยุกต์ใช้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ทั้งในแง่ทฤษฎีและในแง่ปฏิบัติต่าง ๆ ที่ดำเนินการกว่า 30 ปี ในช่วงการปกครองของสตาลินนี้ ก็ยังคงเป็นพื้นฐานของหลักนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี้อยู่

Communist Doctrine : Titoism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิติโต

ทฤษฎีและหลักปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติ ที่สอนโดย โยซิป บรอซ ติโตผู้นำคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย ลัทธิติโตนี้เริ่มเกิดเป็นหลักการใหม่ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 อันเป็นปีที่ประธานาธิบดีติโตได้ปฏิเสธหลักความเป็นหนึ่งเดียวของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ที่โยเซฟ สตาลิน ได้ทำการผลักดันจะให้เป็น ซึ่งในระบบที่สตาลินต้องการนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ในชาติต่าง ๆ จะต้องยอมรับการชี้นำและการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต แต่ติโตบอกว่า ลัทธิชาตินิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์มีหลักการที่เกื้อกูลแก่กันและกัน และจะต้องรวมเข้าเป็นขบวนการใหม่ ที่รัฐคอมมิวนิสต์แต่ละรัฐยังคงมีเอกราชทางการเมืองอยู่อย่างเต็มที่ และสามารถเลือก "แนวทางสู่สังคมนิยม" ที่เป็นของตนเองได้

ความสำคัญ ลัทธิติโตมีผลกระทบตั้งแต่แรก คือ ได้ไปทำลายเอกภาพของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่อยู่ภายใต้การครองความเป็นใหญ่ของสหภาพโซเวียตนับแต่ปี ค.ศ. 1948 เป็นต้นมา ยูโกสลาเวียได้ดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกิจการต่างประเทศ ได้ทำการค้าขายและรับความช่วยเหลือทั้งจากฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก ได้พัฒนาเศรษฐกิจและระบบการเมืองของตนโดยยึดหลักปฏิบัติเป็นสำคัญโดยมีอิสระจากการถูกควบคุมทางอุดมการณ์หรือทางการเมืองจากภายนอก ถึงแม้ว่าสตาลินจะพยายามทำลายการกบฏของลัทธิติโตนี้ แต่นิกิตา ครุชชอฟ กลับประณามลัทธิสตาลิน และได้หันกลับมาสมานไมตรีกับติโตเมื่อปี ค.ศ. 1955 การสมานไมตรีกันนี้ได้ดำเนินมาตลอดช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 จนถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 โดยพวกที่สืบอำนาจต่อจากครุชชอฟ อย่างไรก็ดี ผลกระทบสำคัญของลัทธิติโตนี้ อยู่ตรงที่มีการยอมรับลัทธิติโตนี้เกือบจะทั่วโลกคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลนำไปสู่การเน้นย้ำว่าสามารถที่จะพัฒนาลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติเป็นเอกเทศได้ ตามเหตุปัจจัยของรัฐคอมมิวนิสต์แต่ละรัฐ ผลที่ตามมาก็คือ ได้เกิดลัทธิหลายขั้วอำนาจ กล่าวคือ มีการจัดตั้งศูนย์อำนาจที่มีอิสระขึ้นมาหลากหลาย ในค่ายคอมมิวนิสต์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว

Communist Doctrine : Troskyism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิทรอสกี

ทฤษฎีต่าง ๆ ของลีออง ทรอสกี นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ชั้นแนวหน้า เป็นผู้เคยแข่งขันกับโยเซฟ สตาลิน เพื่อความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตหลังอสัญกรรมของเลนินเมื่อปี ค.ศ. 1924 หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิกเมื่อปี ค.ศ. 1917 และช่วงเกิดสงครามกลางเมืองนั้นแล้ว ทรอสกีได้คัดค้านการใช้ฐานคอมมิวนิสต์ในรัสเซียเพื่อบรรลุถึงการปฏิวัติทั่วโลก ส่วนสตาลินได้เรียกร้องให้สร้างสังคมนิยมในประเทศเดียว เพื่อให้ลัทธิคอมมิวนิสต์มีฐานที่มั่นคงเหนียวแน่นสามารถต้านทานการต่อต้านการปฏิวัติของลัทธินายทุนให้ได้ เมื่อสตาลินได้อำนาจในปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 แล้ว ก็ได้ขับทรอสกีออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและให้เนรเทศไปอยู่ในต่างประเทศ ในช่วงที่ถูกเนรเทศอยู่นี้ ทรอสกีก็ยังคงคัดค้านสตาลินและลัทธิสตาลิน จนกระทั่งเขาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตที่เม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 1940 ลัทธิทรอสกีในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ ได้เรียกร้องให้มีเอกภาพและให้มีความพยายามร่วมกันในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพทั่วทุกประเทศ เพื่อสถาปนาเครือจักรภพคอมมิวนิสต์โลกขึ้นมาให้ได้ ทรอสกีเชื่อว่า ที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวนั้นก็เพราะได้สร้างชนชั้นปกครองขึ้นในระบบข้ารัฐการให้มาคอยเอารัดเอาเปรียบและหักหลังฉกฉวยเอาผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรไป

ความสำคัญ ลัทธิทรอสกี ได้ถูกประณามว่าเป็น ลัทธินอกคอก และลัทธิแก้ ซึ่งสองลัทธินี้เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักคำสอนแบบเดิมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทรอสกีเป็นทั้งนักทฤษฎีและนักเขียนมาร์กซิสต์ที่มีความเฉลียวฉลาดมาก นอกจากนั้นแล้วเขาก็ยังเป็นนักยุทธวิธีทางการทหาร ที่ได้ช่วยการปฏิวัติรัสเซียเอาไว้ด้วยการเร่งพัฒนากองทัพแดงให้มีขีดความสามารถเป็นกองทัพชั้นหนึ่งได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ทรอสกีถูกสตาลินเบียดตกจากอำนาจหลังจากที่ได้ชิงกันในช่วงยุคหลังเลนิน หลังจากนั้นสตาลินก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ลัทธิทรอสกียังคงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีในหลายประเทศในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปฏิเสธแนวความคิดแบบลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติและให้การสนับสนุนจุดมุ่งหมายของลัทธิทรอสกีที่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นแบบคตินิยมไม่ถือชาติ

Communist Theory : Class Struggle

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : การต่อสู่ของชนชั้น

ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพี (ชนชั้นนายทุน) ซึ่งในลัทธิทุนนิยมนั้นความขัดแย้งนี้มีผลพวงมาจากความลำบากยากแค้นของพวกกรรมกรมีเพิ่มมากขึ้น และเกิดการแบ่งแยกอันเนื่องจากมีจิตสำนึกในเรื่องชนชั้นมากขึ้น ๆ คาร์ล มาร์กซ์ บอกไว้ว่า การต่อสู้ของชนชั้นนี้ เกิดจากความขัดแย้งในระดับพื้นฐานตามกระบวนการทางวิภาษวิธีที่มีอยู่ในลัทธิทุนนิยม อย่างเดียวกับที่เคยมีมาในระบบสังคมบรรพกาล ระบบสังคมค้าทาส และระบบสังคมศักดินานั่นเอง พวกคอมมิวนิสต์บอกว่า การขัดแย้งภายในนี่แหละจะเป็นมรรควิธีสู่การเปลี่ยนแปลงจากลัทธิทุนนิยมไปสู่ลัทธิสังคมนิยม ถึงแม้ว่าจะมีนักปฏิวัติมากมายก่อนหน้าคาร์ล มาร์กซ์มีหลักคำสอนอิงอาศัยหลักการต่อสู้ของชนชั้นนี้ก็จริง แต่คาร์ล มาร์กซ์เป็นคนแรกที่ยอมรับว่า การต่อสู้ของชนชั้นนี้มีบทบาทสำคัญในปรัชญาวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ความสำคัญ หลักนิยมคอมมิวนิสต์ที่ว่าด้วยการต่อสู้ของชนชั้นนี้ มีสมมติฐานว่า ในสังคมของพวกนายทุนจะมีเพียงสองชนชั้น ซึ่งสองชนชั้นนี้จะมีผลประโยชน์ขัดกัน และแต่ละชนชั้นจะกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกันและเพื่อสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการเหล่านี้ขึ้นมา พวกปลุกระดมคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ ได้ใช้วิธีปลุกความรู้สึกทางชนชั้นที่รุนแรงขึ้นในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ พวกที่วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ปฏิเสธแนวความคิดที่ว่าการต่อสู้ของชนชั้นนี้เป็นเรื่องที่แน่นอน ต้องเกิดขึ้นแน่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงพ้น พวกนักวิจารณ์เหล่านี้ชี้ไปที่ตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ เห็นว่าตัวเองเป็นพวก"ชนชั้นกลาง" ทั้งนั้น และที่คาร์ล มาร์กซ์ พยากรณ์ไว้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกกรรมกรจะตกระกำลำบากมากยิ่งขึ้น จะมีความยากจนและการตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ความรู้สึกแบ่งแยกผลประโยชน์ทางชนชั้นนั้น ก็มิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่

Communist Theory : Communism ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ลัทธิคอมมิวนิสต์

ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทางวิภาษวิธี ที่ "มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่" จะอยู่ในสังคมที่ปราศจากชนชั้นและปราศจากรัฐ ยอมรับศีลธรรมใหม่แต่สูงกว่าเดิม และให้ความร่วมมือโดยความสมัครใจกับบรรดาผองเพื่อน คาร์ล มาร์กซ์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ นี้จะเกิดขึ้นทีหลัง คือว่า จะถึงขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมนิยม ซึ่งเป็นขั้นตอนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาก่อน จากนั้นรัฐของพวกชนชั้นกรรมาชีพก็จะ "ร่วงโรยไป" เมื่อได้บรรลุถึงสังคมที่ปราศจากชนชั้นแล้วนั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ก็จะเป็นขั้นตอนสูงสุดและสุดท้ายของการพัฒนาสังคม เนื่องจากว่าพลังที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งของชนชั้นจะไม่มีอีกต่อไป และก็จะไม่มีความจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการที่จะก้าวต่อไปอีกแล้ว คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า การผลิตและการกระจายความมั่งคั่งทางวัตถุภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ จะเปลี่ยนจากแบบพื้นฐานของลัทธิสังคมนิยมที่ว่า "ทุกคนทำงานตามความสามารถและได้รับส่วนแบ่งตามผลของงาน” ไปสู่อีกระบบหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักนิยมคอมมิวนิสต์ที่ว่า "ทุกคนทำงานตามความสามารถและได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็น"

ความสำคัญ จุดมุ่งหมายสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ นี้ ได้โยงใย คาร์ล มาร์กซ์เข้ากับมิคาอิล บากูนิน และนักปรัชญาฝ่ายลัทธิอนาคิสต์ในสมัยเดียวกันนั้น โดยพวกนี้เห็นว่า รัฐเป็นเครื่องมือของการเอารัดเอาเปรียบจึงต้องการจำกัดรัฐนี้เสีย พวกนักทฤษฎีและพวกผู้นำชาติต่าง ๆ ฝ่ายคอมมิวนิสต์นี้ไม่ได้ปฏิเสธอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ นี้ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็มักจะให้เหตุผลว่า ที่ลัทธิสังคมนิยมแท้ ๆ ยังมีจุดมุ่งหมายห่างไกลไม่บรรลุถึงเสียทีนี้ ก็เพราะมีศัตรูคือรัฐทุนนิยมยังคอยคุกคามรัฐสังคมนิยมนี้อยู่นั่นเอง อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 นายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียตได้ประกาศต่อหน้าบรรดาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จำนวน 81 พรรคที่มาประชุมกัน ณ กรุงมอสโกว่า สหภาพโซเวียตได้เสร็จสิ้นการสร้างลัทธิสังคมนิยมนี้แล้ว และจะได้เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อไป มโนภาพของคอมมิวนิสต์เกี่ยวกับการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ซึ่งเปรียบปานสวรรค์บนดินนี้เป็นที่สนใจของเหล่าปัญญาชน นักศีลธรรม และบุคลลอื่น ๆ อีกมากมายให้หันมาสู่แนวทางของคอมมิวนิสต์ที่ว่านี้ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ถึงบางอ้อเกิดหูตาสว่างขึ้นมา เมื่อได้เจอกับระเบียบวินัยที่เคร่งครัด การควบคุมความคิดที่ไม่ยอมให้กระดิกกระเดี้ยได้ และวิธีการแบบรัฐตำรวจ ที่พวกคอมมิวนิสต์นำมาใช้ปฏิบัติกัน

Communist Theory : Contradictions of Capitalism

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยม

ความขัดแย้งในระดับพื้นฐานที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้อันมีแฝงอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุน ซึ่งในหลักการคอมมิวนิสต์บอกไว้ว่าความขัดแย้งนี้จะเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดการล่มสลายของลัทธินายทุนเอง คาร์ล มาร์กซ์บอกว่าความขัดแย้งของลัทธินายทุนนี้ จะเริ่มขึ้นที่ขั้นตอนการผลิต เมื่อพวกกรรมกรได้รับ (ค่าจ้าง) เพียงส่วนน้อยจากค่าของสิ่งของที่ได้ผลิตขึ้นมานั้น สำหรับส่วนที่เหลือที่เรียกว่าค่าส่วนเกินหรือกำไรนั้น พวกนายทุนได้เก็บเอาไว้ ผลที่ตามมา ก็คือ จะไม่มีอำนาจซื้อเพียงพอที่จะซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า เมื่อมีการบริโภคสินค้าต่ำเช่นนี้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงภายในชาติ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีความยากจนค่นแค้นมากยิ่งขึ้น มีการตกงานเพิ่มมากขึ้น เกิดการต่อสู้ของชนชั้น และในที่สุดก็จะนำไปสู่ชัยชนะของลัทธิสังคมนิยม

ความสำคัญ พวกคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ทฤษฎีความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยมนี้ แสดงให้เห็นว่า ลัทธิทุนนิยมมีเชื้อของการทำลายตนเองติดอยู่ในตัว และจะล่มสลายลงเนื่องจากความอ่อนแอและความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในตัว หาได้ถูกโจมตีจากพลังภายนอกใด ๆ ไม่ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 นั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นฉากสุดท้ายของวันอวสานของลัทธิทุนนิยมตามที่คาร์ล มาร์กซ์ได้พยากรณ์ไว้เป็นแน่แท้ แต่พวกนักวิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ได้บอกว่าไม่จริง ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจได้ลดความรุนแรงลงมานับแต่ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 และจากบทบาทของสหภาพแรงงานและเหตุอื่น ๆ ประกอบกัน ก็ได้ช่วยให้บรรดาคนงานได้ส่วนแบ่งในผลผลิตทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว นโยบายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลต่าง ๆ ก็ได้ไปปรับแต่งภายในระบบเศรษฐกิจของชาติ เพื่อมิให้เกิดการล่มสลายอย่างที่คาร์ล มาร์กซ์ได้ทำนายไว้แล้วนั้น นอกเหนือจากที่กล่าวนี้แล้ว ก็ได้มีการใช้หลักการเศรษฐกิจแบบคีเนเซียน และมีการพัฒนาระบบเครดิตผู้บริโภครวมขึ้นมา เหล่านี้ผู้สังเกตการณ์บางรายบอกว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปปรับแต่งและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบทุนนิยม

Communist Theory : Cultural Revolution

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ชื่อที่บรรดาสานุศิษย์ของเหมาเจ๋อตง ใช้เรียกการต่อสู้จลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 เพื่อต่อต้านลัทธิแก้และการเบี่ยงเบนไปจากแนวทางปฏิบัติของคอมมิวนิสต์ พวกนิยมลัทธิเหมาเจ๋อตงมีความเห็นว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี้เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนชั้นกรรมาชีพ ต่อต้านการฟื้นฟูลัทธินายทุนและลัทธิวัตถุนิยมทั้งแบบตะวันตกและแบบของโซเวียตการต่อสู้อย่างต่อเนื่องนี้ถือว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ เพราะว่ากระแสการต่อต้านของลัทธิวัตถุนิยมนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมันใกล้จะถึงจุดจบ

ความสำคัญ ในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี้ ความจริงแล้วมิใช่การแก่งแย่งอำนาจระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมแต่อย่างใด ทว่าเป็นการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างฝ่ายปฏิวัติหัวเก่ากับพวกนักปฏิบัติการและพวกข้ารัฐการจีนรุ่นใหม่ เป็นการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างพวกที่ยึดมั่นในการปฏิวัติกับพวกที่ยึดแนวสร้างชาติ การแก่งแย่งกันระหว่างสองฝ่ายที่ชิงดีชิงเด่นกันนี้ได้สร้างความแตกแยกขึ้นในสังคมจีน โดยที่พวกผู้นำเก่าไม่สามารถพึ่งพิงพรรค รัฐ และเจ้าหน้าที่ทางการทหารจีนได้ จึงได้หันไปหามวลชนที่จัดตั้งในรูปแบบที่เรียกว่า "ผู้พิทักษ์แดง" มาช่วยพิทักษ์พวกผู้นำหัวเก่าเหล่านี้ เป้าหมายสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่บอกไว้ว่า จะต้องเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ให้เป็น "มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่" ให้ได้นี้ ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีนครั้งนี้

Communist Theory : Democratic Centralism

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ลัทธิประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์

วิธีการวินิจฉัยสั่งการและดำเนินนโยบายภายในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยยึดหลักนิยมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์นี้ เลนินเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา โดยมีหลักการว่าในการพัฒนานโยบายต่าง ๆ ของพรรคฯ นั้น ให้ร่วมกันพิจารณาตามแบบประชาธิปไตย มีการอภิปรายและถกแถลงกันได้โดยเสรีในหมู่สมาชิกพรรคฯ แต่เมื่อได้มีการตัดสินใจกันแล้วจะมาแสดงความไม่พอใจหรือทำการโต้แย้งในภายหลังอีกไม่ได้ และเมื่อถึงตอนที่องค์การพรรคฯที่ถูกชี้นำจากส่วนกลางดำเนินการตามนโยบายนั้น สมาชิกพรรคฯทุกคนจะต้องรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด และต้องให้การสนับสนุนนโยบายในขั้นดำเนินการนี้อย่างเต็มที่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ในขั้นตอนพัฒนานโยบายนั้น อนุญาตให้มีความหลากหลายทางความคิดได้ แต่พอมาถึงขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายนั้น จะต้องมีความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวในการให้การสนับสนุนผู้นำพรรคฯเท่านั้น

ความสำคัญ หลักการประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์นี้ เลนินได้พัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อที่จะหล่อหลอมข้อดีที่จะได้ทั้งในแง่ปฏิบัติและในแง่จิตวิทยาของการให้สมาชิกพรรคฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมนี้ประการหนึ่ง กับความจำเป็นที่ต้องมีเอกภาพทางด้านอุดมการณ์และการมีประสิทธิผลในระดับปฏิบัติการภายใต้การควบคุมจากส่วนกลางนี้อีกประการหนึ่ง ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เลนินเห็นว่า วิธีการแบบนี้มีความจำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อสร้างเอกภาพและความมีประสิทธิผลภายใน ทั้งสองอย่างนี้จำเป็นจะต้องมีในการทำสงครามช่วงชิงอำนาจและในการดำเนินโครงการทางสังคมนิยมต่าง ๆ หลังจากที่ทำการปฏิวัติได้สำเร็จแล้วนั้น แต่หลักการประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์นี้ ได้ถูกละทิ้งในช่วงที่สตาลินใช้ระบบการปกครองแบเผด็จการ ซึ่งหลังจากนั้นมาเป็นเวลาเกือบ 25 ปี การตัดสินใจและการบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ ได้ดำเนินการโดยคณะบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ ภายใต้การควบคุมของสตาลินอีกทีหนึ่ง เมื่อตอนที่มิคาอิล กอร์บาชอฟ ดำเนินนโยบาย กลาสนอสต์(การเปิด) ก็ได้พยายามให้สาธารณชนได้มีโอกาสโต้แย้งและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายมากยิ่งขึ้น

Communist Theory : Dialectical Materialism

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : วัตถุนิยมวิภาษวิธี (วัตถุนิยมแบบถกเถียงเพื่อหาข้อยุติ)

แนวความคิดที่อธิบายถึงว่า การรวมตัวของสิ่งที่แย้งเข้าด้วยกันก่อให้เกิดการพัฒนาทางสังคมได้อย่างไรบ้าง วิภาษวิธีที่ คาร์ล มาร์กซ์ยืมมาจากปรัชญาของเฮเกลนี้ ได้กล่าวถึงกระบวนการที่แนวความคิดแต่ละอย่าง (ธีสิล) ก่อให้เกิดความคิดที่แย้งกัน (แอนตีธีสิส) และก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งจนบังเกิดเป็นแนวความคิดใหม่ที่สูงส่งกว่า (ซินธีสิส) คาร์ล มาร์กซ์ได้ดัดแปลงวิธีการวิภาษวิธีนี้มาใช้กับมุมมองทางวัตถุนิยมของเขา และได้ใช้วิธีการนี้มาอธิบายกระบวนการที่ชนชั้นซึ่งครอบงำเศรษฐกิจในแต่ละสังคมเกิดการต่อสู้กันและก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะมีการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นสังคมสุดท้ายที่มีความบริสุทธิ์ปราศจากชนชั้นและปราศจากรัฐ เลนินกล่าวถึงวิภาษวิธีนี้ว่า "เป็นการศึกษาความขัดแย้งในแก่นแท้ของทุกสิ่งทุกอย่าง"

ความสำคัญ วัตถุนิยมวิภาษวิธี มีความสำคัญยิ่งต่อปรัชญาลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะพวกนิยมลัทธิมาร์กซิสต์ เชื่อว่าวัตถุนิยมวิภาษวิธีนี้เป็นศาสตร์แห่งสังคมที่เผยถึงกฎการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่คาร์ล มาร์กซ์ปรับเปลี่ยนปรัชญาของเฮเกลนี้เสียใหม่ โดยบอกว่าแนวความคิดเป็นเพียงสิ่งสะท้อนของความจริงทางวัตถุ ยิ่งกว่าที่จะเป็นปัจจัยครอบงำในประวัติศาสตร์ พวกคอมมิวนิสต์สายเคร่งได้ใช้ประโยชน์จากวัตถุนิยมวิภาษวิธีที่คาร์ล มาร์กซ์กล่าวถึงนี้ โดยได้ยอมรับถึงการหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากลัทธิทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมแน่ ๆ ทั้งนี้ก็เพราะทุกแง่ทุกมุมของสังคมมนุษย์ถูกควบคุมโดยพลังทางวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดทางเลือกของมนุษย์และเป็นตัวให้นิยามมนุษย์ว่าเป็นผลผลิตที่สังคมเป็นผู้กำหนด ส่วนพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ปฏิเสธวิธีการวิภาษวิธีของคาร์ล มาร์กซ์นี้ โดยบอกว่า เป็นวิธีที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ มีการยึดหลักศรัทธาในอุดมการณ์มากจนเกินไป และเป็นวิธีที่ยึดเอาตัวแปรเพียงตัวเดียวมาตีความประวัติศาสตร์

Communist Theory : Dictatorship of the Proletariat

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

ขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ โดยที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีอำนาจเข้มแข็งขึ้น มีการกำจัดชนชั้นกระฏุมพีในฐานะชนชั้น แล้วทำการสถาปนาสังคมนิยมขึ้นมา คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพนี้หมายถึงว่า พวกกรรมกรจะเข้าควบคุมกลไกของรัฐและจะใช้กลไกนี้เพื่อจัดการสังคมเสียใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่เคยเป็นของเอกชนก็ให้มาเป็นของสาธารณชนเสีย เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ๆ เลนินและสตาลินบอกว่าขั้นตอนเผด็จการนี้ จะต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพอีกทีหนึ่ง ทั้งเลนินและสตาลินเห็นว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพนี้มีหน้าที่หลัก คือ ปกป้องรัฐและการปฏิวัติจากการฟื้นตัวของชนชั้นกระฎุมพี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า พวกนี้จะเพิ่มยิ่งกว่าจะลดการต่อต้านหลังจากถูกโค่นล้มอำนาจไปแล้ว

ความสำคัญ เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นวิธีการที่ทฤษฎีคอมมิวนิสต์บอกว่าสามารถใช้เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ ถึงแม้ว่าคาร์ล มาร์กซ์จะเชื่อว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมแน่ ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอื่นไปได้ แต่เขาก็ได้กำหนดให้ชนชั้นกรรมาชีพทำหน้าที่เป็นเครื่องมือก่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้เป็นผลขึ้นมาให้จงได้ แต่ด้วยเหตุที่ว่าทฤษฎีคอมมิวนิสต์ได้วางหลักไว้ว่า รัฐทุกรัฐอิงอาศัยกำลังด้วยกันทั้งนั้น และว่า กฎหมายเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงของชนชั้นที่ครอบงำ ดังนั้น จึงได้กำหนดให้ชนชั้นกรรมาชีพนี้เป็นผู้มีบทบาทในการใช้กลไกของรัฐเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่กล่าวมานั้น อย่างไรก็ดี ผู้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในรัฐคอมมิวนิสต์ทุกรัฐ ล้วนแต่ตั้งใจจะให้เป็น เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ แต่พอเอาเข้าจริงกลับกลายไปเป็น "เผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ" ที่ดำเนินการโดยผู้นำพรรคคนเดียวก็มี หรือที่ทำเป็นหมู่คณะก็มี ในสภาพโซเวียต ได้มีการใช้คำว่า "ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ" ในคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและของพรรค แทนคำว่า "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ซึ่งฟังแล้วเรียกอารมณ์ได้น้อยกว่า

Communist Theory : Economic interpretation of History

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : การใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจตีความประวัติศาสตร์

ข้อสมมติฐานที่ว่าระบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานหรือ "ปัจจัยการผลิต" ของสังคม จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ทางศีลธรรม ทางกฎหมาย ทางวัฒนธรรม และทางศาสนา กับจะเป็นพลังจูงใจที่จะชี้นำการพัฒนาสังคมจากระดับต่ำไปสู่ระดับที่สูงขึ้น "แนวความคิดว่าวัตถุนิยมเป็นตัวกำหนดประวัติศาสตร์" นี้เริ่มด้วยสมมติฐานที่ว่า กิจกรรมขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติมีความสัมพันธ์กับการผลิตและการแสวงหาปัจจัยเครื่องยังชีพ ระบบการจัดการ ระบบกรรมสิทธิ์ และระบบการปฏิบัติการกับพลังการผลิตและการจ่ายแจกอาหารและความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ ที่ได้สร้างขึ้นมาแล้วนั้น ล้วนเป็นตัวกำหนดธรรมชาติของสังคม และเมื่อมีการขัดแย้งทางชนชั้นนี้แล้วก็จะเป็นพลังจูงใจภายในให้เกิดวิวัฒนาการของสังคมขึ้นมา คาร์ล มาร์กซ์ระบุไว้ว่าปัจจัยการผลิตที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์นี้ มี 3 อย่างด้วยกัน คือ (1) แรงงาน (2) วัตถุดิบ และ (3) เครื่องมือการผลิต

ความสำคัญ ด้วยเหตุที่คาร์ล มาร์กซ์ได้เน้นไปที่บทบาทขั้นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคม และในการกำหนดรูปแบบของสถาบันต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้น จึงได้มีผู้สังเกตการณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คาร์ล มาร์กซ์เป็นพวกยึดตัวแปรทางเศรษฐกิจอย่างเดียว กล่าวคือ คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น จะมีความขัดแย้งตามแบบวิภาษวิธี ระหว่างเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ กับกระฎุมพีผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ในรูปแบบของการต่อสู้ของชนชั้น ทั้งคาร์ล มาร์กซ์ และเองเกลส์ ตลอดจนพวกคอมมิวนิสต์ร่วมสมัยเดียวกันนั้น ต่างก็ปฏิเสธข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่บอกว่าเป็นการยึดตัวแปรทางเศรษฐกิจเพียงตัวแปรเดียวนั้น และบอกว่า ควรจะถือเรื่องนี้เป็นกระบวนการวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ไม่ควรถือว่าเป็นสัมพันธภาพแบบเหตุและผลธรรมดา อย่างไรก็ดี ทั้งคาร์ล มาร์กซ์ และพวกที่ยึดถือแนวมาร์กซิสต์ ต่างก็มักจะมุ่งไปที่ประเด็นแกนกลางสำคัญที่บอกว่า พลังทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นตัวก่อให้เกิดการต่อสู้ของชนชั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการล่มสลายของลัทธินายทุนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

Communist Theory : Eurocommunism

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตก

บทบาท นโยบาย และโครงการพิเศษ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติ ในประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตก ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกนี้ มีวิวัฒนาการขึ้นมาในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 และช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่การควบคุมของสหภาพโซเวียตต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปแบบมีเอกภาพห้ามแตกแถวนั้นได้ยุติลงแล้ว ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกนี้ ปฏิเสธแนวทางการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้แล้วพวกผู้นำคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกนี้ ก็ให้ยึดแนวลัทธิชาตินิยม มีการปกครองแบบธรรมรัฐที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น มีประสิทธิผลทางการบริหาร และมีประสิทธิผลในการต่อสู้กับปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มีปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาการตกงาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว พวกคนเหล่านี้ก็ยังยอมรับบทบาทของศาสนจักรคาทอลิก และก็มีคนจากศาสนจักรคาทอลิกนี้ไม่น้อยมาเป็นสมาชิกสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ด้วย และบางครั้งนั้น พวกผู้นำคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตก ก็ยังได้วิพากษ์วิจารณ์พวกผู้นำและนโยบายต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียตและสายยุโรปตะวันออกอีกด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกนี้

ความสำคัญ ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตก ได้พัฒนาขึ้นมาจนได้เป็นแนวทางในทางอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อีกแนวทางหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายจะเอาชนะใจของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในยุโรปตะวันตก พวกผู้นำคอมมิวนิสต์และองค์การต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาในยุโรปตะวันตกต่างก็มุ่งหวังที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ให้ได้ ทั้งนี้โดยปฏิเสธแนวทางใช้ความรุนแรง และได้เสนอทางเลือกใหม่ให้คนได้เลือกแทนพรรคการเมืองแนวกลาง ๆ พรรคการเมืองปีกขวา พรรคการเมืองปีกซ้ายต่าง ๆ ผลที่ตามมาก็คือว่า พรรคคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกเหล่านี้ ต่างได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งในระดับชาติต่าง ๆ และในการเลือกตั้งโดยตรงในรัฐสภายุโรป พวกผู้สังเกตการณ์ตะวันตก มีความเห็นว่า การพัฒนาลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกขึ้นมานี้ มีข้อดี 2 อย่าง คือ (1) ก่อให้เกิดพลังอย่างหนึ่งที่จะไปช่วยลดความรุนแรงในนโยบายของคอมมิวนิสต์สายสหภาพโซเวียต และ (2) ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีทางเลือกใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าต่อไปพรรคคอมมิวนิสต์จะได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมในหลายต่อหลายรัฐในยุโรปตะวันตก เมื่อเวลานั้นมาถึงจริง ๆ ฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ องค์การสนธิสัญญานาโต นั่นเอง

Communist Theory : Glasnost : ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : กลาสนอสต์

กลาสนอสต์ เป็นศัพท์ในภาษารัสเซีย แปลว่า "การเปิด" นโยบายกลาสนอสต์ คู่กับนโยบายเปเรสทรอยกา(แปลว่า การบูรณะ) นี้เป็นนโยบายรัฐในสหภาพโซเวียต นับตั้งแต่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1985 กอร์บาชอฟได้เริ่มโครงการปฏิรูปขึ้นมา ด้วยการเน้นที่การสร้างความทันสมัยและให้เกิดการคล่องตัวแก่เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ในโครงการกลาสนอสต์นี้ มีการกำจัดคอร์รับชั่น ห้ามเสพสุรามึนเมาในขณะทำงาน ห้ามเกียจค้านในขณะทำงาน ให้เสรีภาพในการตัดสินใจสำหรับธุรกิจและโรงงานขนาดย่อมมากขึ้น ยอมให้มีการลงทุนด้านกองทุนการจัดงาน ยอมให้มีมาตรการการแข่งขันกันและให้ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดได้ เป็นต้น ส่วนในด้านการเมืองนั้น กอร์บาชอฟได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง อนุญาตให้มีการอพยพคนจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเหมืองหนึ่งได้ซึ่งแต่เดิมทำไม่ได้ ให้มีการเลือกตั้งด้วยการใช้ระบบการแข่งขันในแบบประชาธิปไตยสำหรับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ อนุญาตให้มีการตีพิมพ์ผลงานเขียนต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ และสนับสนุนให้มีการพาดหัวข่าวที่ถูกต้องในสหภาพโซเวียต ในทางส่วนตัวนั้นเล่า กอร์บาชอฟก็ได้เข้าคลุกคลีกับประชาชนโซเวียต เพื่อจะได้รู้แนวความคิดของพวกเขาในเรื่องต่าง ๆ นอกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในนโยบายภายในดังว่ามานี้แล้ว กอร์บาชอฟก็ยังได้ผ่อนปรนท่าทีและจุดยืนของโซเวียตต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบอีกด้วย

ความสำคัญ ในหมู่ประเทศตะวันตก ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า นโยบายกลาสนอสต์นี้ เป็นของกอร์บาชอฟจริง ๆ หรือว่าเป็นฝีมือการชักใยอยู่เบื้องหลังฉากของพวกข้ารัฐการรุ่นใหม่ของโซเวียตกันแน่ ส่วนคำถามอื่น ๆ ที่พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกยกขึ้นมาถามนั้น ก็คือ กอร์บาชอฟจะต่อสู้กับการคัดค้านของพวกผู้วิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งพวกนักวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ต่างปฏิเสธการรณรงค์ให้มีเสรีประชาธิปไตยของกอร์บาชอฟ ด้วยเหตุผลส่วนตัวบ้าง ด้วยเหตุผลในทางอุดมการณ์บ้าง นอกจากนี้แล้ว พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกก็ยังได้ถกเถียงกันด้วยว่า การที่ระบบของโซเวียตมีเสรีภาพมากขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น มีลักษณะในทางประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการเปิดมากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้คนโซเวียตมีการแข่งขันทางอุดมการณ์และทางการเมืองมากขึ้นมาอีกหรือไม่ การที่จะตอบปัญหาเหล่านี้และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกลาสนอสต์นี้ได้ ต้องไปดูที่การพัฒนาในเชิงรูปธรรมในนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตนั้นเสียก่อน

Communist Theory : Historical Inevitability

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ความหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์

ปรัชญาประวัติศาสตร์ที่ คาร์ล มาร์กซ์ตั้งเป็นข้อสมมติฐานไว้ว่า ถึงอย่างไรเสียจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากลัทธิทุนนิยมไปสู่ลัทธิสังคมนิยมแน่ ๆ เพราะเป็นความจำเป็นที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และก็เป็นความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย คาร์ล มาร์กซ์บอกไว้ว่า ความหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์นี้ เป็นผลมาจากความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจัยการผลิตของสังคม คือ ในลัทธิทุนนิยมนี้ก็จะเป็นเหมือนอย่างในระบบก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ระบบบรรพกาล ระบบทาส และระบบศักดินา คือ จะเกิดการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นเสียเปรียบกับชนชั้นที่ได้เปรียบ และสุดท้ายก็จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง ลัทธิมาร์กซิสต์สายเคร่ง บอกไว้ว่า เจตจำนงอิสระและการริเริ่มของปัจเจกชนนั้น มิได้มีความสำคัญต่อกระแสการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์

ความสำคัญ หลักนิยมที่ว่าสังคมนิยมจะมีชัยชนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงในทางประวัติศาสตร์นี้ได้ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์มีลักษณะคล้าย ๆ กับความเชื่อในทางศาสนาที่มีการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตเอาไว้นั้น คาร์ล มาร์กซ์บอกว่า วิธีการที่จะให้บรรลุถึงสังคมนิยมได้นั้น อาจจะเป็นแบบวิวัฒนาการและแบบประชาธิปไตยก็ได้ หรืออาจจะเป็นแบบที่ต้องใช้การปฏิวัติอย่างรุนแรงโดยชนชั้นกรรมาชีพต่อชนชั้นปกครองก็ได้ แต่ในช่วงสุดท้ายของกระบวนการทางประวัติศาสตร์นั้น การต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างสองชนชั้นไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้แน่ การเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติของประวัติศาสตร์จากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งตามที่ลัทธิมาร์กซิสต์บอกไว้นั้นว่าจะถึงจุดสุดยอด และลงเอยด้วยชัยชนะของลัทธิสังคมนิยม เป็นการยุติความขัดแย้งของชนชั้น รัฐร่วงโรยไป แล้วก้าวสู่ยุคสุดท้ายคือลัทธิคอมมิวนิสต์

Communist Theory : Imperialism and Colonialism

ลัทธิคอมมิวนิสต์ : จักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม

สมมติฐานที่ว่า ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของลัทธิทุนนิยม จะชักนำรัฐต่าง ๆ ให้ดำเนินนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมในต่างแดน ลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมของพวกนายทุนนี้ พวกคอมมิวนิสต์ได้ให้อรรถาธิบายไว้ตั้งแต่สมัยของเลนินแล้วว่า เป็นวิธีการ (1) หาที่แหล่งใหม่สำหรับการลงทุน (2) หาตลาดแห่งใหม่ไว้สำหรับขายผลิตผลส่วนเกินที่ขายไม่ออกในตลาดเมืองแม่ เนื่องจากความยากจนข้นแค้นของประชาชน และ (3) หาวัตถุดิบในราคาถูก ๆ ไว้ป้อนโรงงานในเมืองแม่ การที่จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อยึดและควบคุมอาณานิคมนี้ ก็เกิดจากความจำเป็นเนื่องจากธรรมชาติของลัทธิทุนนิยมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือได้มีการเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนแข่งขันกันในช่วงแรก ๆ ไปสู่ขั้นตอนผูกขาดโดยพวกพ่อค้านักลงทุนต่าง ๆ เลนินบอกว่า ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือ จะมีการแข่งขันในการดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยมนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างรัฐนายทุนทั้งหลาย

ความสำคัญ ทฤษฎีที่ว่า จักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม เป็นผลผลิตจากความขัดแย้งของทุนนิยมนี้ มีการอ้างถึงอยู่ในงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ของ คาร์ล มาร์กซ์ ก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นลักษณะสำคัญของหลักการคอมมิวนิสต์ คนที่ได้พัฒนาเรื่องนี้ คือ เลนิน โดยเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ จักรวรรดินิยม : ขั้นตอนสูงสุดของลัทธินายทุน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1917 ในการพัฒนาทฤษฎีที่ว่านี้ เลนินได้ขอยืมแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เจ. เอ. ฮอบสัน มาใช้เกือบจะทั้งหมด ฮอบสันได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ จักรวรรดินิยม (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1902) โดยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า นโยบายจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมของฝ่ายตะวันตกนี้ เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นที่มีอยู่ในระบบทุนนิยม คือ มีการประหยัดมากเกินไปของคนในประเทศเมืองแม่ จึงต้องหาทางชดเชยตลาดภายในที่คนไม่มีแรงซื้อพอนี้ โดยการไปหาตลาดในต่างประเทศเอาไว้ขายสินค้าเหล่านี้ หลักนิยมของเลนินนี้ ได้เปลี่ยนแปลงลัทธิมาร์กซิสต์ โดยได้พยากรณ์ไว้ว่า การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นในชาติที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมมาก ๆ แล้วเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมด้อยพัฒนาใทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ที่ลัทธิทุนนิยมในขั้นผูกขาดกำลังครอบงำประชาชนอยู่นั้นด้วย แต่ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์หลักนิยมคอมมิวนิสต์ บอกว่า นับแต่สมัยของเลนินเป็นต้นมา วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยังขัดกับทฤษฎีของเลนินอยู่โดยเฉพาะที่เลนินทำนายไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงภายในลัทธิทุนนิยมจะทำให้รัฐนายทุนต่าง ๆ ขาดวัตถุดิบและตลาดในต่างประเทศนั้น ไม่เห็นจะจริงตรงไหน เพราะชาติที่ได้เอกราชใหม่ ๆ ทั้งหลาย ต่างก็พยายามที่จะขยายการขายโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐานให้แก่รัฐนายทุนต่าง ๆ อยู่ และการค้าขายระหว่างรัฐที่ได้เอกราชใหม่ ๆ กับรัฐนายทุนก็มีแต่เฟื่องฟูอยู่ตลอดมา ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ยุคจักรวรรดินิยมและยุคล่าอาณานิคมก็ได้ยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีให้คนที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมทั้งหลายได้รับเอกราชและการปกครองตนเองโดยถ้วนหน้าแล้ว ส่วนการที่พวกคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในประเทศต่าง ๆ นั้น ก็มิใช่เพราะผลของการต่อสู้ของชนชั้น แต่เป็นเพราะพวกผู้นำคอมมิวนิสต์ได้ใช้วิธีสร้างความหวังหรือไม่ก็เข้ายึดครองกระบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วและเคยเป็นเจ้าอาณานิคมเหล่านี้ ที่มาเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองไพบูลย์มากยิ่งขึ้นนี้ ก็เพราะไม่ต้องมามัวพะวงต่ออาณานิคมต่าง ๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไปนั่นเอง พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ยืนยันด้วยว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนแต่ขัดกับทฤษฎีของลัทธิเลนินที่ว่าด้วยจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมนี้ทั้งนั้น ส่วนทางฝ่ายที่ให้การสนับสนุนทฤษฎีของลัทธิเลนินก็ได้ชี้แจงว่า ผู้คนในกลุ่มประเทศโลกที่สามตอนนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก และว่า เดี๋ยวนี้ได้มีการเกิดลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ของฝ่ายตะวันตก ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทนานาชาติขนาดใหญ่ที่ได้เข้าควบคุมกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม และลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่นี้แหละได้เข้าแทนที่ลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมแบบเดิม

Communist Theory : New Communist Man:Communist Theory : New Communist Man

ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่

ความเชื่อที่ว่า การวิวัฒนาการของธรรมชาติมนุษย์สามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมของมนุษย์เอง แนวความคิดเรื่อง "มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่" นี้มีข้อสมมติฐานว่า ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ความกรุณาปรานี ความร่วมมือร่วมใจกัน และความชอบรวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวก นี้ได้เกิดวิปริตปรวนแปรไปเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมของสังคมนายทุนที่มีลักษณะแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน มีความประสงค์ร้ายต่อกัน และมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ พวกนักทฤษฎีคอมมิวนิสต์บอกไว้ว่า เมื่อทรัพย์สินส่วนตัวถูกกำจัดออกไปและมีการสถาปนาสถาบันต่าง ๆ ในแบบสังคมนิยมขึ้นมาแทนที่สถาบันในแบบลัทธินายทุนแล้ว มนุษย์ก็จะมีศักยภาพหันกลับมามีคุณธรรมได้

ความสำคัญ มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่ในหลักนิยมคอมมิวนิสต์นี้ จะเป็นผลิตผลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ในขั้นตอนสังคมนิยมนี้เอง จากหลักนิยมที่ว่านี้ ทำให้ลัทธิมาร์กซิสต์มีลักษณะความเชื่อเหมือนอย่างในศาสนาต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะมีการยอมรับว่าเมื่อมนุษย์ได้มาอยู่ภายใต้การชี้นำของหลักศีลธรรมใหม่ที่สูงส่งกว่าของเก่าเหล่านี้แล้ว ก็จะส่งผลให้มนุษย์เหมือนกับว่าได้เกิดใหม่กลับไปมีจิตที่ผ่องแผ้วไม่มัวหมองเหมือนเมื่อตอนเกิดมาใหม่ ๆ นั้น ทฤษฎีคอมมิวนิสต์บอกไว้ว่า สภาวะการณ์นี้จะเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของประวัติศาสตร์ คือ ขั้นตอนที่เป็นคอมมิวนิสต์แท้ ๆ กล่าวคือ ขั้นตอนที่มนุษย์อยู่ในสังคมที่ปราศจากชนชั้น ไม่มีรัฐ มีแต่ความร่วมมือร่วมใจกัน ไม่มีการกดขี่ข่มเหง และใช้อำนาจบีบบังคับกันอีกต่อไป แต่เมื่อมีการแตกแยกในขบวนการคอมมิวนิสต์โลกระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง และเมื่อมีการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมทั่วไปแล้ว อุดมการณ์ที่ว่าด้วย "มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่" นี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น "มนุษย์โซเวียตใหม่" ในสายสหภาพโซเวียต และเป็น "มนุษย์จีนใหม่" ในสายของจีน พวกนักวิพากษ์วิจารณ์หลักนิยมคอมมิวนิสต์ บอกว่า ไม่มีประจักษ์พยานใดส่อแสดงว่า ธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ระบบสังคมแบบสังคมนิยมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร มนุษย์ในสังคมนิยมไม่ได้มีการประกอบอาชญากรรมน้อยลงแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง ในสหภาพโซเวียต ก็ยังเห็นมีการใช้กฎหมายอาญาลงโทษผู้กระทำผิดต่อทรัพย์สินของรัฐอยู่บ่อย ๆ และคนโซเวียตก็ยังเห็นมีการทำความผิดอาญาต่าง ๆ แบบเดียวกับ"ชนชั้นกระฎุมพี”อยู่อีกเหมือนกัน

Communist Theory : Revolution ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : การปฏิวัติ

การที่มวลชนใช้กำลังเข้าพิชิตและยึดอำนาจในช่วงสุดท้ายของการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ของชนชั้น ตามที่หลักนิยมคอมมิวนิสต์ได้พยากรณ์ไว้ คาร์ล มาร์กซ์เชื่อว่า ในหมู่รัฐประชาธิปไตยต่าง ๆ พวกชนชั้นกรรมาชีพสามารถยึดอำนาจเบื้องต้นได้ด้วยสงครามหีบคะแนนเสียง แต่เขาได้พยากรณ์ไว้ว่า เมื่อตอนที่พวกชนชั้นกรรมาชีพจะขับไล่พวกชนชั้นกระฎุมพี ออกจากการควบคุมสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น ก็จะมีการต้านการปฏิวัติเกิดขึ้นมา เลนินได้เปลี่ยนแปลงลัทธิมาร์กซิสต์ตรงจุดนี้ โดยบอกว่าชนชั้นกระฎุมพีจะไม่ยอมละทิ้งบทบาทครอบงำของตน จนกว่าอำนาจนี้จะถูกทำลายโดยวิธีการใช้ความรุนแรงทำการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น ในนโยบายการอยู่ร่วมกันโดยสันตินั้น นิกิตา ครุชชอฟได้ประกาศไว้เมื่อปี ค.ศ. 1961 ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องใช้สงครามเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมคติของตน และว่า อาวุธของคอมมิวนิสต์ "มีความสูงส่งกว่าระบบเก่า ทั้งในด้านการจัดองค์การทางสังคม ด้านระบบการเมือง ด้านระบบเศรษฐกิจ ด้านการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพ และด้านวัฒนธรรมทางจิตใจ” อย่างไรก็ดี สงครามปลดปล่อยแห่งชาติที่มวลชนสู้รบในดินแดนด้อยพัฒนาของโลกนั้น ได้รับการรับรองจากครุชชอฟ และพวกผู้นำโซเวียตในยุคต่อมาว่าเป็นความจำเป็น และเป็นความชอบธรรม

ความสำคัญ ตำราคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะพูดถึงธรรมชาติของการปฏิวัติที่ลัทธิมาร์กซิสต์ได้พยากรณ์ไว้แล้วนี้ ปัญหาสำคัญที่นำมาถกเถียงกันก็คือว่า เมื่อถึงตอนต่อสู้ของชนชั้นนี้ จำเป็นต้องใช้วิธีรุนแรงเข้าโค่นล้มรัฐบาลเดิมเท่านั้น หรือว่าสามารถทำได้โดยสันติวิธีด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย นักทฤษฎีคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่แล้วได้ให้การรับรองว่า การปฏิวัติด้วยวิธีการรุนแรงนี้เป็นความชอบธรรม และเป็นวิธีการจำเป็นเพื่อให้สามารถบรรลุถึงขั้นตอนสังคมนิยมได้ แต่ไม่มีนักทฤษฎีคอมมิวนิสต์คนใดประกาศว่า สงครามที่รัฐคอมมิวนิสต์ทำกับรัฐประชาธิปไตยเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมหรือมีประโยชน์ พวกผู้นำคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ วี.ไอ.เลนิน จนถึง มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า "การปฏิวัติไม่สามารถส่งออกได้" แต่จะต้อง "เป็นผลจากเงื่อนไขในท้องถิ่นนั้นเอง" และว่าในความหมายของลัทธิมาร์กซิสต์นั้น สถานการณ์ภายในสังคมต่าง ๆ ก็จักต้อง "สุกงอมพร้อมที่จะปฏิวัติ" อย่างไรก็ดี พวกผู้นำโซเวียตเห็นว่าการให้การสนับสนุนแก่กลุ่มปฏิวัติต่าง ๆ ในรัฐอื่น ๆ เป็นความชอบธรรมเพราะว่าเมื่อรัฐทุนนิยมก้าวหน้าต่าง ๆ ได้ส่งออกการต่อต้านการปฏิวัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลตามธรรมชาติของการต่อสู้ของชนชั้นอยู่อย่างนี้ พวกคอมมิวนิสต์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องให้การสนับสนุนแก่กองกำลัง "ก้าวหน้า"ที่ทำการต่อสู้อยู่นั้น

Communist Theory : Socialist Program ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : โครงการสังคมนิยม

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม และมีการปูทางไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของคอมมิวนิสต์แท้ ๆ คือ สังคมที่ปราศจากชนชั้นและปราศจากรัฐ จุดมุ่งหมายหลัก ๆของโครงการสังคมนิยมที่ คาร์ล มาร์กซ์ บอกไว้ในหนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต (ค.ศ.1848)มีดังนี้ (1) กำจัดกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินของเอกชนทั้งหมด (2) มีการเก็บภาษีก้าวหน้า (3) มีการยกเลิกสิทธิในการสืบทอดมรดก (4) ให้รัฐเข้าควบคุมการธนาคารและการสินเชื่อ (5) ให้รัฐเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคมนาคมและการขนส่ง (6) ให้ดำเนินการเกษตรกรรมแบบรวมศูนย์และสร้างกองทัพอุตสาหกรรม (7) ให้ทุกคนมีพันธกรณีต้องทำงานเท่าเทียมกัน (8) กำจัดแรงงานเด็ก และ (9) จัดการศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กทุกคนในโรงเรียนของรัฐ นักทฤษฎีคอมมิวนิสต์บอกไว้ว่า โครงการสังคมนิยมต่าง ๆ เหล่านี้จะได้มีการดำเนินการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ช่วงที่เป็นเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

ความสำคัญ โครงการสังคมนิยมที่คาร์ล มาร์กซ์นำเสนอไว้นี้ มีลักษณะคล้ายกับนโยบายพรรคการเมือง ที่มุ่งหมายจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในข้อเสนอทางนโยบายหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถึงแม้ว่ารัฐคอมมิวนิสต์โดยทั่วไปจะได้ดำเนินการตามโครงการส่วนใหญ่เหล่านี้ แต่ก็มิใช่ว่ามีแต่รัฐคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ดำเนินการโครงการเหล่านี้ แม้แต่รัฐนายทุนทั้งหลาย รัฐบาลก็ได้ดำเนินโครงการเหล่านี้ในบางส่วนก็มี ที่ได้ดำเนินการทั้งหมดก็มี คาร์ล มาร์กซ์ และผู้นำคอมมิวนิสต์ในยุคแรก ๆ มีความเชื่อว่า การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างที่ว่ามานี้ จะไม่สามารถดำเนินการได้ในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะพวกชนชั้นกระฎุมพีจะทำการคัดค้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆที่จะคุกคามต่อบทบาทครอบงำที่พวกเขามีอยู่นั้น โครงการสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและต่อเติมเสริมแต่งอย่างมากมาย เพราะผลมาจากเก็บภาษีการขายได้เพิ่มมากขึ้น คือมากกว่าภาษีรายได้ที่เก็บได้ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ก็เพราะในสหภาพโซเวียตมีการเกิดชนชั้นใหม่คือพวกนักปฏิบัติการและพวกข้ารัฐการขึ้นมา นอกจากนี้แล้วก็ยังได้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจโดยได้นำระบบแรงจูงใจด้านกำไรและระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดมาใช้

Communist Theory : Surplus Value ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : ค่าส่วนเกิน

ข้อสมมติฐานของลัทธิมาร์กซิสต์ที่ว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม จะรวมถึงค่าแรงงานในการผลิต “ที่จำเป็นทางสังคม" เข้าด้วยกับ "ค่าส่วนเกิน" ที่อยู่ในรูปของกำไรสำหรับนายทุนนั้นด้วย คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่า จากทฤษฎีค่าส่วนเกินนี้ หมายถึงว่า กรรมกรเป็นผู้ก่อให้เกิดค่าทุกอย่างแก่ผลิตภัณฑ์ แต่ได้ถูกโกงเอาไปโดยให้แต่เพียงค่าชดเชย ขณะเดียวกันนั้นนายทุนเป็นฝ่ายได้กำไรโดยขูดเลือดขูดเนื้อเอาจากแรงงานของผู้อื่นอีกทีหนึ่ง แนวความคิดเรื่องค่าส่วนเกินนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล มาร์กซ์ด้วยการรวมเอาทฤษฎีค่าแรงแบบคลาสสิก ซึ่งสอนไว้โดย จอห์น ล็อค, อาดัม สมิธ, และ เดวิด ริคาร์โดเข้ากับหลักกนิยมค่าจ้างเพื่อการยังชีพของลัทธิพาณิชยนิยม ทฤษฎีค่าแรงแบบคลาสสิกนั้นมีแนวความคิดว่า ค่าทุกอย่างมีฐานอยู่บนการผสมผสานแรงงานของคนเข้ากับวัตถุดิบของโลก ส่วนหลักนิยมค่าจ้างเพื่อการยังชีพนั้นก็มีปรัชญาว่า พวกกรรมกรจะต้องให้ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเข้าไว้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ต้องทำงานในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการยังชีพ

ความสำคัญ ทฤษฎีค่าส่วนเกินที่ได้พัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล มาร์กซ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการนำหลักนิยมคอมมิวนิสต์มาใช้อธิบายความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยม คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน บอกไว้ว่า ที่พวกนายทุนมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะพยายามขยายค่าส่วนเกินหรือกำไรนี่เอง จะก่อให้เกิดความยากจนข้นแค้นในหมู่กรรมกรมากยิ่งขึ้น คนจะมีแรงซื้อน้อยลง ส่วนผลิตผลส่วนเกินที่ขายไม่ออกก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมตามมา การต่อสู้ของชนชั้นระหว่างผู้ถูกเอาเปรียบกับผู้เอาเปรียบก็จะเกิดตามมาอันเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ปกป้องลัทธินายทุนก็ได้ยืนยันเหมือนกันว่า เรื่องกำไรนั้นเป็นรางวัลที่นายทุนควรจะได้สำหรับความสามารถในการประกอบการ และเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีสำหรับการเสี่ยงในการลงทุน และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็ยังบอกด้วยว่า ความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจของพวกกรรมกรในรัฐทุนนิยม ได้มีการปรับปรุงรวดเร็วกว่าในกรณีของกรรมกรในรัฐคอมมิวนิสต์ที่ค่าส่วนเกินตกไปเป็นของรัฐนั้นเสียอีก

Consensus of Values : เอกฉันท์ทางค่านิยม

เจตนคติ ความเชื่อ และความมุ่งหวังร่วมกันในหมู่มนุษย์ เมื่อมีเอกฉันท์ทางค่านิยมนี้เกิดขึ้นมาแล้ว การกระทำทางการเมืองก็จะถูกกระตุ้นและชี้นำให้ไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมายร่วมกันได้ เมื่อกลุ่มชนใดมีเอกฉันท์ทางค่านิยมนี้อยู่ในระดับสูง เราเรียกกลุ่มชนนั้นว่าชุมชน หรือประชาคม

ความสำคัญ ระดับของเอกฉันท์ทางค่านิยมนี้ จะเป็นตัวกำหนดระดับที่เป็นจริงแท้ ๆ และที่เป็นศักยภาพของบูรณาการรวมหน่วยทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม รวมถึงระดับของเสถียรภาพภายในกลุ่มทางสังคมนั้นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ภายในรัฐหนึ่งรัฐใดไม่สามารถจะตกลงกันในเรื่องนโยบายขั้นพื้นฐานได้ ก็อาจจะเกิดการปฏิวัติหรือสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้ ในหมู่ชาติต่าง ๆ นั้น การสร้างสถาบันระหว่างประเทศ และการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีความเป็นเอกฉันท์ทางค่านิยมนี้ ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น ความมีเอกฉันท์ทางค่านิยมที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวยุโรปตะวันตก โดยมีแรงสนับสนุนมาจากโครงการสร้างบูรณาการรวมหน่วยต่าง ๆ ก็ได้ช่วยให้มีการพัฒนาจิตสำนึกในความเป็นประชาคมยุโรป ซึ่งต่อไปอาจก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นสหพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตขึ้นมาในภูมิภาคนี้ก็ได้

Cultural Exchange การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

โครงการะหว่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยรัฐ หรือกลุ่มเอกชนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมทางวัฒนธรรมระหว่างกันให้มีความตระหนักถึงความสำเร็จทางด้านศิลปะและทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนให้มีความเข้าใจในสถาบันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมระหว่างกัน โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้ มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยรัฐเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติที่เป็นมิตรอยู่แล้ว และเพื่อช่วยลดความตึงเครียดระหว่างคนในประเทศที่มีศักยภาพเป็นศัตรูกัน

ความสำคัญ ความพยายามในระดับรัฐบาลที่จะสร้างอิทธิพลต่อชาวต่างประเทศโดยผ่านทางกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนี้ ได้มีมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสนั่นแล้ว และนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานี้ โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มักจะมุ่งไปที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายคือผลประโยชน์แห่งชาติยิ่งเสียกว่าจะใช้เพื่อปรับปรุงความเข้าใจระหว่างประเทศ ในช่วงที่เกิดสงครามเย็นอยู่นั้น ได้มีการดำเนินการโครงการเช่นว่านี้ ทั้งโดยฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก ยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ของทั้งสองฝ่าย ภายใต้โครงการฟูลไบร์ทแอคท์ ปี ค.ศ. 1946 โครงการแลกเปลี่ยนผู้นำ ภายใต้โครงการสมิธ-มุนดท์แอคท์ ปี ค.ศ.1948 โครงการวัฒนธรรมต่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินภายใต้โครงการแจกจ่ายโภคภัณฑ์ทางเกษตรเหลือใช้ของพับลิกลอว์ 480 โครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวของกลุ่มศิลปิน โครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวของกลุ่มนักดนตรี โครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวของกลุ่มนักเขียน โครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวของกลุ่มนักกวี และโครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้นำทางวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว สหรัฐอเมริกายังได้ส่งอาสาสมัครหน่วยพีสคอรป์หลายพันคนไปยังประเทศด้อยพัฒนาต่าง ๆ ทางด้านสหภาพโซเวียต ก็ได้ให้การอุดหนุนในโครงการยูทเฟสติวัลส์ ได้ส่งศิลปินนักแสดงและนักสร้างสรรค์ระดับแนวหน้าไปยังต่างประเทศ มีการจัดตั้งโครงการมิตรภาพมหาวิทยาลัยแห่งชาติต่าง ๆ ในกรุงมอสโกสำหรับเยาวชนจากประเทศด้อยพัฒนาและได้ส่งกลุ่มทางการศึกษาและทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ไปทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมในกรณีพิเศษอีกด้วย ทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายสหภาพโซเวียตต่างก็พยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ว่าสังคมของฝ่ายตนมีวัฒนธรรมสูงส่งที่ชาวต่างประเทศอาจลอกเลียนแบบไปใช้ในการพัฒนาสังคมของพวกเขาได้ นอกจากโครงการต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายทางนโยบายต่างประเทศดังกล่าวมานี้แล้ว ทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ก็ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการในระดับชาติและระดับนานาชาติต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความร่วมมือทางวัฒนธรรมและความเข้าใจระหว่างประเทศ

Democracy : ประชาธิปไตย

อุดมการณ์อย่างหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยอิงอาศัยค่านิยมในทางเสรีนิยม กล่าวคือ ให้มีเสรีภาพส่วนบุคคล ให้มีความเท่าเทียมกัน ให้มนุษย์มีเกียรติภูมิและมีภราดรภาพ ให้รัฐบาลใช้อำนาจจำกัด ให้ยึดหลักนิติธรรม และให้ใช้กระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีนักปรัชญาทางการเมืองหลายต่อหลายท่านนับตั้งแต่อาริสโตเติลเป็นต้นมา ได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยสร้างหรือมีคุณูปการต่ออุดมการณ์ของประชาธิปไตยนี้ก็จริง แต่ว่ารากฐานของหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักเสรีนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในทางทฤษฎีให้เป็นระบบที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติการได้ บุคคลสำคัญซึ่งมีส่วนในการสร้างทฤษฎีประชาธิปไตยในห้วงเวลาดังกล่าว ก็ได้แก่ เจมส์ แฮร์ริงตัน, จอห์น ล็อค, จาง จาคส์ รุสโซ,โธมัส เจฟเฟอร์สัน, โธมัส เพน, เจเรมี เบ็นธัม, เจมส์ มิลล์, จอห์น สจ๊วต มิลล์, และอะเล็กซิส เดอ ทอคคูวิลล์ ครั้นมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลักการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น คือได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ยึดรูปแบบและหลักการทางกฎหมายไปสู่อุดมการณ์ที่สมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่กล่าวถึงแนวความคิดที่จะสร้างสังคม "ดีที่สุด" ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่การมีเสรีภาพส่วนบุคคล ให้ความเอื้ออาทรแก่สังคม และให้มนุษย์มีเกียรติภูมิ ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชาธิปไตย (ซึ่งนับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีความสัมพันธ์กับเสรีภาพทางเศรษฐกิจภายใต้ลัทธินายทุนในแบบเสรีนิยม) ก็ได้ปรับแต่งตัวเองใหม่เป็นแบบให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมบางอย่างที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม นักทฤษฎีที่มีงานเขียนที่ให้การสนับสนุนบทบาทอันนี้ของภาครัฐบาล ได้แก่ แอล.ที.ฮอบเฮาส์, จอห์น ดิวอี และโยเซฟ ชุมปีเตอร์ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงมีลักษณะของทฤษฎีแนวความคิดและหลักปฏิบัติต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งสามารถตีความและนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ได้ปฏิเสธลัทธิและความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีสามารถกำหนดได้ทั้งในแง่จุดมุ่งหมายและในแง่วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีประชาธิปไตยก็ยังมีสมมติฐานด้วยว่าปัจเจกชนสามารถใช้วิจารณญาณในนโยบายทางสังคมได้ และว่าสังคมที่มีเสรีภาพนั้น จะช่วยจัดหาสภาพแวดล้อมดีที่สุด เพื่อสร้างสรรค์สถาบันทางสังคมและสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้ ในทางการเมืองนั้น ประชาธิปไตยนี้ก็ได้เน้นที่ ให้ยึดหลักการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ให้อธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ให้ข้าราชการหรือข้ารัฐการมีความรับผิดชอบ ให้มีการประกันเสรีภาพส่วนบุคคล และให้มีการยึดหลักนิติธรรม ซึ่งหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังคงเป็นหัวใจของอุดมการณ์ประชาธิปไตยนี้อยู่ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ก็ได้มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในหมู่รัฐประชาธิปไตย และนอกจากนี้แล้ว ก็มีนักทฤษฎีบางรายได้ให้ความสนใจที่จะขยายหลักการเหล่านี้ให้มีความกว้างไกลออกไปอีกด้วย
.
ความสำคัญ นับแต่ที่ได้เกิดการปฏิวัติใหญ่ในอเมริกาและในฝรั่งเศสเป็นต้นมา อุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ได้เกิดการต่อสู้กับระบบการเมืองที่เป็นคู่แข่งผ่านมาแล้วหลายระบบด้วยกัน ที่สำคัญก็คือ ระบบราชาธิปไตยที่ยึดหลักการเทวสิทธิ์ของพระราชา ระบบอภิชนาธิปไตยและระบบคณาธิปไตย ระบบฟัสซิสต์ที่มีหลักการว่ารัฐมีอำนาจทุกอย่าง และระบบคอมมิวนิสต์ที่ยึดหลักการใช้ความรุนแรง ถึงแม้จะมีหลายสังคมที่ได้ทดลองใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้แล้วไม่ยอมใช้อีกต่อไป นั้นก็เป็นเพราะสังคมเหล่านั้นไม่เข้าใจในหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการใช้เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยอย่างผิด ๆ หรือต้องการไปหาวิธีแก้ปัญหาของตนในรูปแบบอื่นที่ทำได้ฉับพลันและง่าย ๆ แต่จะถึงอย่างไรก็ตามที ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงเป็นที่สนใจของเหล่าปัญญาชนและมวลชนทั้งหลายอยู่ดี ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ได้เข้าไปเฟื่องฟูอยู่ในหมู่ประเทศประชาคมแอตแลนติกก็มี ในหมู่ประเทศเครือจักรภพของอังกฤษ และในประเทศกลุ่มยุโรปตะวันตก ซึ่งสภาพแวดล้อมในประเทศเหล่านี้มีความเกื้อกูลเป็นอย่างดี คือมีพื้นฐานทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรีก - โรมัน และศาสนายิว - คริสต์มาด้วยกันและได้ขัดเกลาระบบการปกครองแบบนี้โดยวิธีการลองผิดลองถูกทั้งทางภาคทฤษฎีและทางภาคปฏิบัติมานานเกือบสองศตวรรษมาแล้ว นอกจากนี้แล้วที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีประสิทธิผลเป็นพิเศษในดินแดนต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้น ก็อาจสัมพันธ์โยงใยกับเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของระบอบนี้ กล่าวคือ สังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับสูงมาก มีเอกฉันท์ทางค่านิยมพื้นฐาน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และคนมีการศึกษาดีและมีความรับผิดชอบสูง แต่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ จากการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างสองค่ายได้ทำให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างแนวความคิดของสังคมประชาธิปไตยกับแนวความคิดในทฤษฎีคอมมิวนิสต์ สมรภูมิของการแข่งขันกันครั้งนี้ อยู่ที่ชาติต่าง ๆ ในกลุ่มโลกที่สามซึ่งมีจำนวนราว 130 ชาติ ซึ่งในหมู่ชาติต่าง ๆ เหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยเพิ่งได้เอกราชมาใหม่ ๆ หลังจากที่เคยตกเป็นอาณานิคมอยู่นานนับเป็นร้อย ๆ ปี

Democratic Theory : Accountability ทฤษฎีประชาธิปไตย : ภาระรับผิดชอบ

หลักการพื้นฐานของทฤษฎีประชาธิปไตย ที่วางหลักไว้ว่า ข้าราชการหรือข้ารัฐการทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ภาระรับผิดชอบนี้สามารถควบคุมได้ (1) โดยการเลือกตั้ง (2) โดยการควบคุมทางรัฐธรรมนูญ (3) โดยการริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน การลงประชามติ และการถอดถอน (4) โดยการสำรวจประชามติและการหยั่งเสียงมหาชน (5) โดยกิจกรรมของพรรคการเมือง (6) โดยการชุมนุมของประชาชน การมีเสรีภาพในการชุมนุม การร้องทุกข์ การอภิปราย การแจ้งข่าวทางสื่อมวลชน และ (7) โดยการออกเสียงลงคะแนนหรือนับจำนวนสมาชิกในสภานิติบัญญัติ

ความสำคัญ ระบบประชาธิปไตยในทุกระบบ ต่างยอมรับในหลักการภาระรับผิดชอบนี้ มีเพียงแต่สถาบันและระเบียบปฏิบัติเพื่อบังคับใช้หลักการที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ในทางปฏิบัตินั้น สายงานการรับผิดชอบนี้จะไล่ขึ้นไปตั้งแต่ระดับข้าราชการหรือข้ารัฐการระดับล่างสุดจนถึงระดับรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะขึ้นไปยังประมุขฝ่ายบริหารและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และขั้นสุดท้ายก็จะถึงผู้ออกเสียงลงคะแนนโดยผ่านทางการเลือกตั้งนั่นเอง ส่วนสายงานทางด้านอำนาจนั้น ก็จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสายงานภาระรับผิดชอบ ระบบพรรคการเมืองที่มีความรับผิดชอบนั้น จะทำการส่งเสริมขีดความสามารถของประชาชนให้สามารถบังคับรัฐบาลให้มีภาระรับผิดชอบในนโยบาย ตลอดจนให้การวินิจฉัยสั่งการและในการบริหารต่าง ๆ จากการมีระบบความรับผิดชอบนี้เอง ทำให้ระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนี้มีข้อแตกต่างจากระบบการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ และแตกต่างจากระบบประชาธิปไตย "แบบมีการชี้นำ" หรือ "แบบผักชีโรยหน้า" ซึ่งเป็นระบบที่ใช้รูปแบบและสถาบันของประชาธิปไตย แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วเป็นการใช้อำนาจบงการเหนือประชาชน ระบบการเมืองที่มีภาระรับผิดชอบและความรับผิดชอบต่อประชาชนอยู่ในระดับสูงสุด อย่างเช่นระบบของอังกฤษ อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบมีประชาธิปไตยมากที่สุด

Democratic Theory : Civil Liberties ทฤษฎีประชาธิปไตย : เสรีภาพของพลเมือง

หลักประกันในระบบประชาธิปไตย ว่าเสรีภาพของปัจเจกชนจะไม่ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลโดยอำเภอใจ เสรีภาพของพลเมืองนี้ตามปกติจะมีอยู่ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของประชาชน(ในสหรัฐอเมริกา) หรือในรัฐธรรมนูญที่จะแจกแจงข้อจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเอาไว้ สิทธิเสรีภาพสำคัญ ๆ ที่ได้รับการคุ้มครอง ก็คือ (1) เสรีภาพในการชุมนุม (2) เสรีภาพในการสมาคม(3) เสรีภาพในการตีพิมพ์ (4) เสรีภาพในการถือศาสนา (5) เสรีภาพในการพูด (6) เสรีภาพในทรัพย์สิน (7) เสรีภาพที่จะได้รับการพิจารณาอรรถคดีผ่านกระบวนการที่เหมาะสมและผ่านการไต่สวนที่บริสุทธิ์ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรม ในยุคใหม่นี้ รัฐบาลประชาธิปไตยได้เข้ารับทบาทในทางบวกเพิ่มขึ้น ในการให้การปกป้องสิทธิพลเมืองของปัจเจกชนและกลุ่มชนต่าง ๆ มิให้ถูกแทรกแซงโดยอำเภอใจจากบุคคลอื่นในสังคม

ความสำคัญ การคุ้มครองเสรีภาพพลเมืองและเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับบุคคลอื่นของปัจเจกชนนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของลัทธิประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ดีจะให้เป็นสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์แบบเด็ดขาดไปเลยก็คงไม่ได้ สิทธิทุกอย่างจะต้องมีการจำกัดทั้งนั้น เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมผลประโยชน์อันชอบธรรมของสังคม ในการปกครองในระบบประชาธิปไตยนั้น การแทรกแซงในเสรีภาพของปัจเจกชนนั้น จะต้องไม่กระทำตามอำเภอใจ แต่จะต้องกระทำด้วยเหตุและผล และเป็นไปด้วยความยุติธรรม มีการใช้กระบวนการที่เหมาะสม และยึดหลักนิติธรรมนั้นด้วย แต่ปัญหาสำคัญในระบบประชาธิปไตย ก็คือ ปัญหาว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีภาวะสมดุลระหว่างเสรีภาพกับการใช้อำนาจ หากเสรีภาพนี้มีการใช้กันอย่างผิด ๆ กันเกร่อ ส่งผลให้มีการละเมิดในสิทธิของปัจเจกชนและของกลุ่มโดยบุคคลอื่นอย่างนี้ ฉันทานุมัติของสังคมที่อนุญาตให้สามารถแสดงออกและให้เห็นขัดแย้งกันได้นี้ ก็คงจะมีอยู่ต่อไปไม่ได้ และก็จะเกิดการจลาจลวุ่นวายเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป หรือมีการใช้อำนาจควบคุมสังคม เพราะฉะนั้น ระบบสังคมประชาธิปไตยที่จะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งนั้น เมื่อให้เสรีภาพแก่ปัจเจกชนแล้ว เสรีภาพนั้นจะต้องไม่ไปขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมประชาธิปไตยนั้นด้วย

Democratic Theory : Constitutionalism ทฤษฎีประชาธิปไตย : คตินิยมรัฐธรรมนูญ

แนวความคิดขั้นพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยถูกจำกัดในเรื่องของอำนาจ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้อำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามที่กฎหมายอนุญาตไว้เท่านั้น ข้อจำกัดสำคัญของคตินิยมรัฐธรรมนูญนี้ จะมีการบรรจุไว้ในกฎบัตร หรือสัญญาขั้นพื้นฐาน ที่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็มี ที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ดี และได้ตราให้ไว้โดยได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการหรือความยินยอมโดยปริยายจากประชาชนของรัฐนั้น

ความสำคัญ หลักการของคตินิยมรัฐธรรมนูญที่นำมาใช้กับระบบการทำงานของรัฐบาลนั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย กับคุณสมบัติของระบบการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ในรัฐที่หลักการรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐานหลายอย่างมิได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเช่นในกรณีของบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) รัฐบาลจะถูกจำกัดโดยจารีตประเพณี และโดยสิ่งที่ประชาชนสามารถยอมรับได้โดยทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการพัฒนานโยบาย ซึ่งผ่านทางแง่มุมหลากหลายของกระบวนการทางการเมือง ส่วนในสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น จะทำหน้าที่เป็นข้อสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และโดยการใช้วิธีอำนาจทบทวนของศาล (เกี่ยวกับกฎหมายหรือการกระทำในทางปกครอง) นั้น กฎหมายและการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ล่วงล้ำก้ำเกินข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญศาลก็จะสามารถเพิกถอนได้ ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนหลักการที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่จำกัด และก็เป็นการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการควบคุมรัฐบาลโดยผ่านทางการเลือกตั้งและทางเทคนิควิธีทางการเมืองอื่น ๆ กระนั้นก็ดี ข้อจำกัดของรัฐบาลในรัฐต่าง ๆ ที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่นั้น ได้มีการยืดหยุ่นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าประชาชนไม่ค่อยจะให้ความสนใจในกระบวนการทางการเมือง ก็จึงทำให้รัฐบาลสามารถตีความกฎหมายขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างกว้าง ๆ แล้วนำมาเป็นกฎเกณฑ์บังคับและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน

Democratic Theory : Individualism ทฤษฎีประชาธิปไตย : ปัจเจกชนนิยม

แนวความคิดสำคัญในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ได้ให้หลักการไว้ว่า เป้าหมายสำคัญของการปกครอง ก็คือ การส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของปัจเจกชน และให้แต่ละบุคคลได้ใช้ขีดความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ หลักการปัจเจกชนนิยมนี้มีสมมติฐานว่า รัฐบาลมีพันธกรณีที่จะให้ความเคารพและให้ความคุ้มครองในสิทธิต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล และให้ความคุ้มครองมิให้มีการล่วงละเมิดจากปัจเจกชนหรือกลุ่มชนอื่น

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์นั้น หลักการปัจเจกชนนิยมในทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ มีรากฐานอยู่บนแนวความคิดที่ว่า (1) ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด (2) อำนาจของรัฐบาลมีอย่างจำกัดและ (3) ปัจเจกชนแต่ละคนมีสิทธิตามธรรมชาติบางอย่างที่ละเมิดมิได้ สำหรับปัจเจกชนนิยมในทางเศรษฐกิจนั้น ได้เกิดขึ้นในระบบรัฐแบบตะวันตกในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งช่วงนั้นหลักการที่ยึดปัจเจกชนเป็นศูนย์กลางและหลักปฏิบัติของวัตถุนิยมแบบเสรีนิยม (ปล่อยให้ทำไป) ได้เริ่มเข้าแทนที่ระบบที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางของลัทธิพาณิชยนิยม การปฏิวัติใหญ่ในอเมริกาและการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เป็นสองเหตุการณ์สำคัญที่เป็นตัวช่วยเสริมระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น โดยได้สร้างระบบการเมืองที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการให้ความสำคัญต่อปัจเจกชน ยกตัวอย่างเช่น ในคำประกาศเอกราชของอเมริกา และในคำประกาศสิทธิของมนุษย์และของพลเมืองของฝรั่งเศส ต่างก็มีการเน้นย้ำในเรื่องให้เสรีภาพแก่ปัจเจกชนให้สามารถใช้สิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่เกิดได้อย่างเต็มที่ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่สำคัญในโลกปัจจุบันนี้ เป็นการขัดแย้งระหว่างแนวความคิดปัจเจกชนนิยมในทฤษฎีประชาธิปไตย กับแนวความคิดของทฤษฎีแบบรวมศูนย์อำนาจที่ปรากฏอยู่ในหลักนิยมลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์
36.Democratic Theory : Majority Rule ทฤษฎีประชาธิปไตย : การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
หลักการที่ว่าการตัดสินใจใด ๆ ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องกระทำโดยพลเมืองส่วนใหญ่ในหน่วยการเมืองนั้น ๆ ถึงแม้ว่าฝ่ายข้างมากจะมีสิทธิและมีอำนาจที่จะปกครองก็จริง แต่ในทฤษฎีประชาธิปไตยก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่า ฝ่ายข้างน้อยก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง และว่า ฝ่ายข้างน้อยนี้จะต้องได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์และสามารถเสนอนโยบายเป็นทางเลือกใหม่แทนนโยบายของฝ่ายข้างมากนั้นได้ กับทั้งสามารถหาทางเป็นฝ่ายข้างมากโดยผ่านทางกระบวนการเลือกตั้งได้อีกด้วย

ความสำคัญ หลักการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้ ได้รับการยอมรับจากนักทฤษฎีประชาธิปไตยส่วนใหญ่ว่า เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของหลักการและแนวปฏิบัติของประชาธิปไตย หากฝ่ายข้างมากไม่ได้ปกครองเสียแล้ว อำนาจก็จะต้องมีการใช้โดยกลุ่มผู้นำที่ถูกเลือกมาโดยยึดหลักทรัพย์สมบัติ หลักสถานภาพ หลักความสามารถ หรือหลักอย่างอื่นนอกจากนี้ และหากไม่ยึดหลักเจตนารมณ์ของฝ่ายข้างมากนี้เสียแล้ว ระบอบการปกครองก็จะออกมาในรูปสมบูรณาญาสิทธิ์ หรือการใช้อำนาจบงการได้ ถึงแม้ว่าการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้จะเหมาะกับการใช้ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคอย่างเช่นในประเทศอังกฤษ แต่ก็มีเหมือนกันที่นำระบบแบบนี้ไปใช้ในแบบรัฐบาลผสมคือโดยวิธีการรวมพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าด้วยกันเป็นเสียงข้างมากแล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา ซึ่งมีปรากฏให้เห็นดาษดื่นในรัฐประชาธิปไตยต่าง ๆ แต่นักทฤษฎีประชาธิปไตยบางรายได้ปฏิเสธการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้ แต่อยากจะให้เป็นรัฐบาลที่มีลักษณะเป็น "เสียงส่วนใหญ่ที่มีสมานฉันท์" หรือแบบ "เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นพ้อง" ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายข้างน้อยออกเสียงคัดค้านนโยบายที่สำคัญ ๆ ได้ ส่วนพวกนักทฤษฎีที่ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยเห็นว่า การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์นี้เป็นแบบ "โมโบเครซี" หรือเป็นการปกครองโดยมวลชนที่ไม่ผ่านการฝึกฝน มีความไม่เหมาะสม และมีอารมณ์ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี จากการนำหลักการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์มาใช้กับระบบการปกครองนี้จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะอย่างกว้างขวางมากขึ้น

Democratic Theory : Natural Law ทฤษฎีประชาธิปไตย : กฎธรรมชาติ

แนวความคิดที่ว่า มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และใช้ได้ในระดับสากล เป็นกฎที่ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ และใช้เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมในการตัดสินการกระทำของพลเมืองและของรัฐบาล หลักการของ "กฎธรรมชาติ" ซึ่งมีอยู่ในทฤษฎีประชาธิปไตยนี้ ได้จำกัดอำนาจของรัฐบาล กำหนดแนวความคิดในด้านความยุติธรรมโดยธรรมชาติ มีการกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของมวลมนุษย์ในสังคมระดับสากลซึ่งควบคุมโดยกฎธรรมชาติ

ความสำคัญ ทฤษฎีกฎธรรมชาตินี้ มีการอธิบายไว้เป็นครั้งแรกโดยพวกนักปรัชญากรีกสมัยต้น ๆ ต่อมาพวกสโตอิกส์ได้กำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญในการพัฒนาสังคมทั่วไป หลังจากนั้นมาพวกโรมันและพวกนักปรัชญาสายศาสนจักรในยุคกลางได้ทำการดัดแปลงแก้ไขกฎนี้ และสุดท้ายได้มีการพัฒนากฎนี้ให้เป็นหลักการสิทธิโดยธรรมชาติ อันเป็นหลักสำคัญของอุดมการณ์ในลัทธิประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงสุดท้ายนี่เองได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดจาก "กฎ"มาเป็น "สิทธิ" ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการเปลี่ยนจุดเน้นไปที่ปัจเจกชนนิยม อำนาจอธิปไตยปวงชน รัฐบาลมีอำนาจจำกัด ซึ่งหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ได้รวมอยู่ในคำประกาศเอกราชของอเมริกันและคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศส จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งระบบปฏิบัติการของการปกครองที่อิงอาศัยหลักการประชาธิปไตยที่ให้การรับรองในสิทธิโดยธรรมชาติและที่แยกไม่ได้นี้ของพลเมือง นอกจากนี้แล้ว แนวความคิดในเรื่องกฎธรรมชาตินี้ ก็ยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบกฎหมาย ระบบศีลธรรม ระบบจริยศาสตร์ และระบบศาสนา แต่หน้าที่หลักของกฎธรรมชาตินี้ ก็คือ เป็นตัวกำหนดมาตรฐานสำหรับความประพฤติของปัจเจกชนและของรัฐบาล และทำหน้าที่จำกัดอำนาจที่รัฐใช้กับประชาชน อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎธรรมชาตินี้มีลักษณะคลุมเครือจึงได้มีการตีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้บางคนถึงกับปฏิเสธกฎธรรมชาตินี้ไปเลย โดยบอกว่าเป็นแนวความคิดแบบเมตาฟิสิกส์ ยกตัวอย่างเช่น พวกนักปราชญ์ทางกฎหมายสายโพสิติวิสต์ (ปฏิฐานนิยม) ได้ปฏิเสธความถูกต้องของแนวความคิดในกฎธรรมชาตินี้ โดยอ้างหลักการว่า จะเป็นกฎหมายได้นั้น จะต้องเป็นเจตจำนงของรัฏฐาธิปัตย์และจะเป็นอย่างนี้ได้ก็จะต้องมีการประกาศใช้โดยรัฐบาลเท่านั้น

Democratic Theory : Popular Sovereignty, ทฤษฎีประชาธิปไตย : อำนาจอธิปไตยปวงชน

หลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่บอกไว้ว่า ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจชอบธรรมทางการเมืองทั้งปวง แนวความคิดในเรื่องอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้มีสอนอยู่ในปรัชญาว่าด้วยสิทธิโดยธรรมชาติในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้เป็นรากฐานทางวิชาการของทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลักการอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ถือว่า (1) ประชาชนของหน่วยหรือสังคมทางการเมืองนั้น ๆ เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด (2) พวกประชาชนเหล่านี้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาแล้วมอบอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐโดยผ่านทางสัญญาสังคม หรือรัฐธรรมนูญ และ (3) รัฐบาลที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นยังต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งยังมีอำนาจสูงสุดนั้นอยู่

ความสำคัญ ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ พยายามอธิบายถึงที่เกิดและที่ตั้งของอำนาจในสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีนี้ก็ช่วยหาความชอบธรรมให้แก่การปฏิวัติโค่นล้มผู้ครองอำนาจเดิม ในกรณีที่รัฐบาลได้ละเมิดสิทธิของประชาชน หลักการนี้ได้มีการอธิบายไว้โดยนักปฏิวัติอเมริกันและนักปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1776 และ 1789 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าอำนาจทางการเมืองตามปกติแล้วประชาชนจะใช้โดยอ้อมผ่านทางสภาผู้แทน แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง ล้มเลิก และสร้างรัฐบาลในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ ในประการสุดท้ายนั้น อำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ อธิบายถึงแนวความคิดของรัฐบาลโดยความยินยอม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดกับรูปแบบของระบอบอำนาจนิยม และระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดที่ว่า รัฐบาลในรัฐประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการเลือกตั้งเสรี และกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเลิกล้มได้โดยการกระทำของประชาชนนี้ เป็นแนวความคิดที่ใช้เป็นอาวุธทางโฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งของฝ่ายตะวันตก

Democratic Theory : Rule of Law : ทฤษฎีประชาธิปไตย : หลักนิติธรรม

หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตย ที่บ่งบอกถึงความสูงสุดของกฎหมาย เป็นการจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าที่ของรัฐ แนวความคิดเรื่องหลักนิติธรรมนี้ ได้ให้การสนับสนุนหลักนิยมที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัด โดยปกป้องสิทธิของปัจเจกชน จากการถูกแทรกแซงตามอำเภอใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ความสำคัญ หลักนิติธรรมในระบบประชาธิปไตย จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับอำนาจส่วนบุคคลและอำนาจของผู้ปกครองที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดในรัฐอำนาจนิยม แต่ภายใต้หลักนิติธรรมนี้ ปัจเจกชนมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และทุกคนจะยังไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมมีการไต่ส่วนและลงโทษด้วยความยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวประท้วงที่สนับสนุนให้มวลชนละเมิด "กฎหมายยุติธรรม" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับโจมตีกฎหมายที่มีมาแต่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมือง และกฎหมายว่าด้วยพื้นที่เลือกให้บริการ เป็นการกระทำที่ท้าทายหลักนิติธรรมในสหรัฐอเมริกาและในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เห็นว่า กฎหมายที่ว่านั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดย "พวกหัวเก่า" เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของพวกตน แต่ในขณะเดียวกันนั้น ผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ กลับไม่ได้รับการรับรองและให้การคุ้มครอง หลักนิติธรรมจะเฟื่องฟูในรัฐประชาธิปไตยแห่งหนึ่งแห่งใดได้นั้น ก็ต่อเมื่อกลุ่มต่าง ๆ มีเอกฉันท์ทางค่านิยมร่วมกันว่าจะร่วมกันต้อต้านกฎหมายและแนวปฏิบัติใด ๆ ที่อยุติธรรม โดยใช้ช่องทางกระบวนการทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

Fascism : ลัทธิฟัสซิสต์

อุดมการณ์ของพวกขวาจัด ซึ่งส่งเสริมสังคมแบบอำนาจนิยมที่อิงอาศัยการปกครองโดยคณะบุคคลระดับหัวกะทิที่นำโดยผู้นำหรือผู้เผด็จการสูงสุด พวกฟัสซิสต์ปกติแล้วจะได้อำนาจรัฐโดยวิธีก่อรัฐประหาร หรือไม่ก็ได้อำนาจรัฐในช่วงที่เกิดการปฏิวัติวุ่นวาย เนื่องจากเกิดการกลัวภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งที่คุกคามจริงหรือสร้างภาพขึ้นมาก็ตามที ทำให้คนส่วนใหญ่หันมายอมรับการเปลี่ยนแปลงสถาบันต่าง ๆ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อเผชิญกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ลัทธิฟัสซิสต์นี้มักจะให้การยกย่องรัฐเสียจนเลิศลอยเกินความเป็นจริง มีการปฏิเสธปัจเจกนิยม และแนวความคิดที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัด แต่จะให้การสนับสนุนระบบที่จะให้คนมีระเบียบวินัยและมอบความจงรักภักดีอย่างเต็มที่ต่อรัฐที่ได้ชื่อว่ามีอินทรีย์ และเป็นแกนกลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่มีความเห็นแตกแยกไปจากรัฐจะถูกกำจัด มีการเสริมสร้างสามัคคีในชาติ ด้วยการใช้ปฏิบัติการของตำรวจลับ ใช้โครงการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน และให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวผูกขาดอำนาจ ในรัฐฟัสซิสต์จะอบอวลไปด้วยความรู้สึกเกลียดชังต่างชาติ และบูชาทหารแบบแสนยนิยม ภายใต้ระบบการปกครองแบบฟัสซิสต์ จะยังคงให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและในทุนต่อไป แต่ธุรกิจและองค์การของเอกชนทั้งหมด รัฐจะเข้าไปจัดการและชี้นำเพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของชาติ

ความสำคัญ ลัทธิฟัสซิต์สมัยใหม่ เกิดขึ้นมาจากวิกฤติการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในระหว่างสงครามในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ต้นแบบของรัฐฟัสซิสต์นี้ ผู้ที่ทำการหล่อหลอมขึ้นมาเป็นครั้งแรก คือ เบนิโต มัสโสลินี ในช่วงหลังจากที่เขาได้อำนาจในอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1922 ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากปฏิกิริยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภายหลังจากเกิดการปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซีย ในช่วงหลังต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์แบบเดียวกันนี้โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีของเขาในเยอรมนี โดยฟรังซิสโก ฟรังโก และพรรคฟาลังยิสต์ในสเปน โดยฮวน เปอรอง และพรรคเปอโรนิสตาในอาร์เจนตินา และในประเทศแถบยุโรปตะวันออกอีกหลายประเทศ ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1940 ถึงแม้ว่าลัทธิฟัสซิสต์ในส่วนที่เป็นอุดมการณ์จะถึงแก่การล่มสลายภายหลังจากการพ่ายแพ้ของมหาอำนาจฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังมีลัทธิฟัสซิสต์แบบใหม่ได้เกิดขึ้นมาในประเทศด้อยพัฒนาที่เพิ่งเกิดหลายประเทศทั่วโลก เมื่อทหารได้เข้ายึดอำนาจภายหลังจากเกิดการล้มเหลวของสถาบันในระบบประชาธิปไตยต่าง ๆ ที่เพิ่งลองนำมาหัดใช้ ระบบฟัสซิสต์จะประสบปัญหาร้ายแรงอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้เพราะระบบการปกครองแบบนี้จะต้องอิงอาศัยบารมีของผู้นำสูงสุดเป็นหลัก ซึ่งผู้นำผู้นี้จะครอบงำชาติโดยวิธีได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน หรือไม่ก็โดยใช้กำลังและความเหี้ยมโหดในการปกครองประเทศ ลัทธิฟัสซิสต์ในด้านที่เป็นอุดมการณ์นั้น จะปฏิเสธกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่อิงอาศัยหลักเสรีภาพ หลักการเลือกตั้งเสรี และหลักภาระรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลัทธิฟัสซิสต์จะเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อพวกคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยมฝ่ายซ้าย

Facist Theory : Anticommunism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : คตินิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์

ความเชื่อและเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้อย่างกว้างขวาง ของลัทธิฟัสซิสต์ที่บอกว่า จะมีก็แต่เพียงรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จมีความสามัคคีนำโดยผู้นำสูงสุด (ผู้เผด็จการ)เท่านั้น จึงจะสามารถเผชิญกับภัยคุกคามจากยุทธวิธีของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ คตินิยมการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของลัทธิฟัสซิสต์นี้ได้ฉกฉวยประโยชน์จากความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชนทุกชั้นในรัฐที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แล้วใช้ความกลัวนี้เพื่อยึดอำนาจและดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ พวกศัตรูทางการเมืองมักจะถูกระบอบการปกครองฟัสซิสต์กำจัดโดยการป้ายสีว่า "เป็นคอมมิวนิสต์" บ้าง "เป็นตัวแทนคอมมิวนิสต์สากล" บ้าง ทฤษฎีฟัสซิสต์สร้างความหวังว่าจะสามารถเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ โดยการสถาปนาสังคมนิยม "แท้ ๆ" ขึ้นมา ซึ่งจะกำจัดการต่อสู้ของชนชั้นได้โดยการประสานผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสนับสนุนและช่วยเหลือชาติ

ความสำคัญ ลัทธิฟัสซิสต์ มิได้มีทฤษฎีที่มีลักษณะกว้างไกลและประสานเป็นหนึ่งเดียว และที่มีคนสนับสนุนจนสามารถได้อำนาจรัฐนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าได้อาสาจะเข้ามาสร้างความสามัคคีและเสถียรภาพให้แก่สังคมในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ที่คอมมิวนิสต์ทำการปฏิวัติแล้วคุกคามต่อระบบเดิม ซึ่งอาจจะถูกคุกคามจริง ๆ หรือสร้างภาพขึ้นมาก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีในช่วงต้นทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ได้เผชิญกับมรสุมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่คนไม่พอใจกับสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ มีการตกงานอย่างรุนแรงและเกิดการแตกแยกในสังคม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ได้อาสาเข้ามาช่วยคุ้มครองเยอรมนีจากคอมมิวนิสต์ จึงได้รับการหนุนหลังทางการเงินจากพวกนักอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยทั้งหลาย และก็ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมกร จนกระทั่งได้อำนาจรัฐมาเมื่อปี ค.ศ. 1933 และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีคณะทหารในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ ได้เข้ายึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร แล้วจัดตั้งระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์ขึ้นมา ด้วยการสนับสนุนของคณะผู้กุมอำนาจในประเทศนั้น ๆ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาติจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ที่เป็นการคุกคามจริง ๆ ก็มี ที่สร้างภาพขึ้นมาก็มาก

Fascist Theory : Elitism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : คตินิยมเชื่อผู้นำ

หลักการที่ว่า อำนาจรัฐควรจะให้ใช้โดยพรรคการเมืองที่มีการจัดโครงสร้างอำนาจแบบพรรคเดียว ซึ่งนำโดยผู้นำสูงสุด หรือคณะบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ คตินิยมเชื่อผู้นำในทฤษฎีฟัสซิสต์นี้ จะปฏิเสธข้อจำกัดอำนาจรัฐโดยทางรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธในเรื่องพหุนิยมทางการเมือง แต่ต้องการจะให้เป็นรัฐแบบออร์กานิก (เสมือนหนึ่งสิ่งมีชีวิต) ที่ทุกกลุ่มและทุกคนมีบทบาทตามที่คณะผู้ปกครองมอบหมายให้ จะไม่ยอมให้มีการคัดค้านการปกครองของคณะผู้นำของพรรค และจะมีการใช้อำนาจรัฐทำลายผู้ที่ต่อต้านขัดขวางระบอบการปกครองนี้

ความสำคัญ การปกครองโดยกลุ่มคนในระดับผู้นำที่มีการรวมอำนาจและยึดแนวทางชาตินิยมมากเป็นพิเศษนี้ เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของลัทธิฟัสซิสต์ ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนีระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ได้กำจัดพรรคการเมืองทุกพรรคและคนทุกคนที่คัดค้าน และได้จัดตั้งระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จขึ้นมา และกลยุทธ์ต่าง ๆ คล้ายกันนี้ก็ได้มีการนำมาใช้โดยพรรคฟัสซิสต์ของเบนิโต มัสโสลินี ในอิตาลี พรรคฟาลังยิสต์ของ ฟรังซิสโก ฟรังโก ในสเปน และพรรคเปอโรนิสตา ในอาร์เจนตินา พวกผู้นำฟัสซิสต์ถึงแม้ว่าปกติแล้วจะหาทางให้มวลชนมาสนับสนุนโดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ โดยการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางชาตินิยม และโดยการกระตุ้นให้รู้สึกนิยมชมชอบในลัทธิแสนนิยมแต่ก็จะไม่ยอมให้คน "ธรรมดาสามัญ" ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง มีนักปราชญ์บางท่านบอกว่า เพลโตนักปรัชญากรีกสมัยโบราณเป็นนักทฤษฎีฟัสซิสต์คนแรกเพราะในปรัชญาว่าด้วยรัฐในอุดมคติของนักปราชญ์ท่านนี้ มีเรื่องหลักนิยมของผู้นำแบบนี้อยู่ด้วย

Fascist Theory : Militarism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : แสนยนิยม

การเน้นหรือน้ำหนักที่พวกฟัสซิสต์ ให้แก่องค์การและระเบียบวินัยทางทหาร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่พรรคการเมืองแห่งชาติพรรคเดียว และเพื่อสร้างระเบียบวินัยและความมั่นคงปลอดภัยแก่รัฐ ภายใต้ลัทธิฟัสซิสต์นี้ จะมีการฝึกหัดอบรมในเรื่องค่านิยมทางทหารต่าง ๆ ให้แก่เยาวชนในสถานศึกษา และในองค์การยุวชน จะมีการยกย่องวีรบุรุษทางการทหาร และจะมีพิธีเดินขบวนสวนสนามของทหารเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูบทบาทอันทรงเกียรติของทหารในฐานะเป็นผู้ปกป้องชาติ และเพื่อสนับสนุนให้มีการยอมรับระเบียบสังคมที่ยึดหลักความมีวินัย

ความสำคัญ ระบอบเผด็จการฟัสซิสต์นี้ ส่วนใหญ่แล้วจะได้อำนาจรัฐและครองอำนาจอยู่ต่อไปได้ ก็โดยได้รับการสนับสนุนจากทหารอย่างเต็มที่ ผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และเบนิโต มัสโสลินี เป็นต้น จะสวมเครื่องแบบทหาร และเป็นผู้บัญชาการทหารของกองทัพในรัฐของตนนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะครอบงำทหารแทนที่จะยอมให้ทหารครอบงำตน ส่วนฟรังซิสโก ฟรังโก แห่งสเปน และฮวน เปอรอง แห่งอาร์เจนตินา ก็ล้วนเป็นประมุขของทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนของรัฐตนในขณะเดียวกัน ในโลกปัจจุบันนี้ ในหมู่ประเทศด้อยพัฒนาทั้งในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ได้มีการยึดอำนาจโดยกลุ่มขวาแบบเดียวกับฟัสซิสต์นี้ แล้วให้คณะทหารได้อำนาจปกครองประเทศ ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากมวลชนเกิดความไม่พอใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองได้ดังที่ได้คาดหวังกันไว้

Fascist Theory : Statism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : รัฐนิยม

แนวความคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยมิได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ประชารัฐหรือรัฐชาติและว่า ปัจเจกชนและสมาคมต่าง ๆ มีขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมอำนาจ เกียรติภูมิ และความมั่งคั่งไพบูลย์ของรัฐ แนวความคิดของทฤษฎีฟัสซิสต์ว่าด้วยรัฐนิยมนี้ จะปฏิเสธในเรื่องปัจเจกนิยม แต่จะให้การยกย่องชาติว่าเป็นองค์กรที่มีออร์กานิก (เสมือนหนึ่งสิ่งมีชีวิต) นำโดยผู้นำสูงสุด และจะต้องเสริมสร้างให้มีเอกภาพมีพลังและมีวินัย ภายใต้หลักการที่ว่านี้ รัฐเป็นผู้สร้างปัจเจกชนให้มีค่าขึ้นมา ซึ่งปัจเจกชนจะบรรลุถึงจุดหมายคือความมีค่าในตนนี้ได้ ก็โดยยอมอุทิศตนเพื่อความรุ่งเรืองของรัฐ

ความสำคัญ แนวความคิดของฟัสซิสต์ว่าด้วยรัฐนิยมนี้ เป็นการดัดแปลงหลักการปกครองแบบอัตตาธิปไตยที่ให้ปัจเจกชนทุกคนมอบความจงรักภักดีอย่างเต็มที่ต่อผู้นำซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของรัฐมาใช้กับยุคใหม่ จะมีนำเอาเรื่องชาตินิยม แสนยนิยม และ(ในบางรัฐฟัสซิสต์) คตินิยมเชื้อชาติ มาพร่ำสอนให้คนเกิดความรู้สึกว่า ค่านิยมต่าง ๆ ที่มีอยู่มีความสำคัญขึ้นมาได้นั้นก็เพราะรัฐเป็นผู้กำหนดให้มีค่าขึ้นมา ในรัฐฟัสซิสต์จะไม่ยอมให้คนมีความจงรักภักดีอย่างอื่นนอกเสียจากความจงรักภักดีต่อรัฐเท่านั้น อุดมการณ์ทั้งปวงของลัทธิฟัสซิสต์ในอิตาลีและในเยอรมนีในช่วงก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกครอบงำโดยความเชื่อที่ว่าปัจเจกชนจะต้องมอบกายถวายชีวิตให้แก่ความศักดิ์สิทธิ์ของชาติเท่านั้น

Fascist Theory : Totalitarianism : ทฤษฎีฟัสซิสต์ : คติอำนาจเบ็ดเสร็จ

การที่รัฐใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมปัจเจกชนและองค์การต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมทั้งปวงผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับนโยบายและจุดมุ่งหมายของระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์นี้ ยุทธิวิธีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของทฤษฎีฟัสซิสต์มีดังนี้ คือ (1) มีการใช้ตำรวจลับและปฏิบัติการก่อการร้าย (2) มีการกำจัดผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ (3) มีการปฏิเสธสิทธิพลเมือง และ (4) มีการใช้โครงการโฆษณาชวนเชื่อสารพัดอย่างผ่านทางการสื่อสารที่ควบคุมโดยรัฐ ส่วนทางด้านพรรคการเมืองพรรคเดียวที่เป็นไปตามอุดมการณ์ของทฤษฎีฟัสซิสต์นี้ ก็จะเข้าผูกขาดอำนาจและใช้กลไกต่าง ๆ ของรัฐเพื่อดำเนินให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้แล้วนั้น

ความสำคัญ ระบอบการปกครองแบบฟัสซิสต์ต่าง ๆ จะมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเข้าควบคุมประชาชนในรัฐของตนแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละรัฐจะควบคุมมากน้อยอย่างไรก็เป็นไปตามความเชื่อของพวกผู้นำที่เห็นถึงความจำเป็นและความสะดวกที่จะต้องใช้ พวกฟัสซิสต์มีความเห็นว่า คติอำนาจเบ็ดเสร็จที่ว่านี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะรวมประชาชนทุกคนบูรณาการเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติ เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนหรือมีความสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตน ในหมู่รัฐฟัสซิสต์ด้วยกัน เยอรมนีได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอยู่ในระดับสูงสุดที่ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมคน ในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1940 ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี

Fourteen Points : หลักการโฟร์ทีนพ้อยท์

เครื่องมืออย่างหนึ่งของสงครามจิตวิทยา ประกอบด้วยหลักการอุดมคตินิยมต่าง ๆ ที่ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1918 เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าจะต้องชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 และว่าจะดำรงสันติภาพหลังจากสงครามยุติลงแล้ว ในหลักการโฟร์ทีนพ้อยท์ ประธานาธิบดีวิลสัน ได้เรียกร้องดังนี้ (1) ให้มีการทูตแบบเปิด (2) ให้มีเสรีภาพทางทะเล (3) ให้มีการลดกำลังรบ (4) ให้มีการขจัดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ (5) ให้นานาชาติเข้ากำกับดูแลอาณานิคมต่าง ๆ โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยสันติโดยอิงอาศัยหลักการการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง และ (6) ให้มีการจัดตั้งสมาคมนานาชาติขึ้นมาทำหน้าที่ให้หลักประกันในเอกราชทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของบรรดารัฐน้อยใหญ่เสมอเหมือนกัน

ความสำคัญ หลักการโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของโครงการอุดมคตินิยมว่ามีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมวลมนุษย์นับล้านคนได้ ข้อเสนอในโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ได้ใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือในทางโฆษณาชวนเชื่อในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ช่วยบำรุงขวัญของฝ่ายพันธมิตรและช่วยไปลดขวัญของฝ่ายเยอรมนีที่จะต่อสู้ เมื่อวิลสันได้รับการสนับสนุนจากมวลชนชาวยุโรปแล้ว จึงได้ใช้ไปกดดันบีบบังคับให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรอื่น ๆ กล่าวคือ เดวิด ลอยด์ จอร์จ, จอร์จ คลีมังคู, และวิตโตริโอ ออร์ลันโด ยอมอ่อนข้อในการประชุมสันติภาพแวร์ซายส์ ซึ่งแต่ละคนต่างมีแผนที่จะขยายดินแดนและลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น ข้อเรียกร้องของวิลสันที่ให้มีสมาคมของชาติต่าง ๆ ขึ้นมานั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ทำให้เกือบทุกชาติเข้าร่วมในสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนข้อเรียกร้องของวิลสันที่ให้ "มีข้อตกลงแบบเปิดเผยที่ลงนามกันอย่างเปิดเผย" นั้นก็เป็นเหตุให้มีการพัฒนา "การทูตแบบการประชุมกัน" ขึ้นมา สำหรับข้อเรียกร้องของเขาที่ให้มีการใช้หลักการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองนั้น ก็ได้นำไปสู่การจัดใหัมีการออกเสียงประชามติหลายต่อหลายครั้ง สรุปได้ว่าหลักการต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ในโฟร์ทีนพ้อยท์นี้ ยังคงมีอิทธิพลต่อการดำเนินกิจการระหว่างประเทศและในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการแข่งขันกันทางด้านอุดมการณ์และทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ

Gaullism : ลัทธิชาลส์เดอโกลล์

ปรัชญาการเมืองของประธานาธิบดี ชาลส์ เดอ โกลล์ แห่งฝรั่งเศส และอิทธิพลของปรัชญานี้ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในชาติฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สาระสำคัญของลัทธิชาลส์เดอโกลล์ คือ แนวความคิดที่ว่า ผลประโยชน์ของชาติจะต้องอยู่เหนือเหตุผลประโยชน์ส่วนตัว ตามการตีความของเดอ โกลล์ และเดอ โกลล์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักในนโยบายของฝรั่งเศส โดยได้ลดระดับความสำคัญของการเมืองในพรรคที่เคยมีมาตั้งแต่เดิมนั้นลงมา แต่ได้ไปทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีลักษณะโดดเด่นขึ้นมาในรัฐบาล เดอ โกลล์ได้วางแนวความคิดไว้ว่า การบริหารแผ่นดิน หากจะให้เกิดประสิทธิผล จะต้องดำเนินการโดยข้ารัฐการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยมีแรงจูงใจมาจากแนวความคิดของเดอ โกลล์ที่บอกว่า "จะต้องเป็นความจริงที่ยึดหลักผลประโยชน์ของชาติในเชิงวัตถุวิสัย" เดอ โกลล์ยืนยันว่าเขาได้ความจงรักภักดีอย่างจริงใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เผชิญกับการคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากพวกคนที่ท้าทายปรัชญาการปกครองของเขา ถึงแม้ว่า เดอ โกลล์จะแสดงท่าว่าพร้อมที่จะบดขยี้กับทุกสิ่งที่มาขัดขวางเขา แต่ในขณะเดียวกันนั้นเขาก็ได้แสดงออกมาถึงความมุ่งมั่นที่จะยึดหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแทบทุกตัวอักษรเลยก็ว่าได้ จากลักษณะท่าทางที่เขาแสดงออกในที่สาธารณะ และจากรายงานของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้แสดงออกมาให้เห็นโดยโจ่งแจ้งว่า เดอ โกลล์เป็นประธานาธิบดีที่ยืนอยู่เหนือการเมือง เป็นสัญลักษณ์ของผู้เป็นองค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ประกันในเอกราชและบูรณภาพแห่งชาติฝรั่งเศสอย่างแท้จริง

ความสำคัญ ประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐที่ 5 จนถึง ค.ศ. 1969 ได้ถูกครอบงำโดยบุคลิกภาพของประธานาธิบดี ชาลส์ เดอ โกลล์ เขาได้ช่วยพลิกฟื้นฝรั่งเศสจากสภาพที่ตกอับอ่อนแอทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้กลับมาผงาดสามารถเรียกเกียรติภูมิระหว่างประเทศและความภาคภูมิใจของคนในชาติกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง รูปแบบปัจจุบันของรัฐบาลฝรั่งเศส ดู ๆ ไปแล้วส่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในเทคนิคการปกครอง และก็คงจะมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนคนเดียวอย่างแน่นอน ปัญหาของการสืบทอดเจตนารมณ์ในฝรั่งเศสได้คลี่คลายลงได้เมื่อ ค.ศ. 1969 อันเป็นปีที่นายจอร์จ ปอมปิดูได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ทว่าผลกระทบของลัทธิชาลส์เดอโกลล์ต่อการเมืองฝรั่งเศส ก็ยังมีประจักษ์พยานให้เห็นอยู่ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980

Ideological Warfare : สงครามอุดมการณ์

ความขัดแย้งกันประเภทหนึ่ง ระหว่างระบบค่านิยม หรือ "วิธีชีวิต"ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งมีการใช้ความพยายามที่จะเปลี่ยนจิตใจของมวลชนให้เข้ามาอยู่ในฝ่ายของตน สงครามอุดมการณ์ มีลักษณะดังนี้ (1)มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (2) มีการใช้โครงการทางวัฒนธรรม (3)มีการใช้โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา ทางศิลปะ และทางวิทยาศาสตร์ (4) มีการช่วยเหลือในแบบให้เปล่าแก่ประเทศต่าง ๆ (5) มีการใช้กิจกรรมอย่างอื่น ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเอาชนะใจหรือผูกใจคน การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์สำคัญในโลกปัจจุบันเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐฝ่ายคอมมิวนิสต์กับรัฐฝ่าย ”โลกเสรี" และระหว่างคอมมิวนิสต์สายโซเวียตกับคอมมิวนิสต์สายจีน

ความสำคัญ สงครามอุดมการณ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างปะเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 20 สงครามอุดมการณ์นี้เป็นทั้ง "พลังรวม" คือรวมคนที่มีภูมิหลังในแต่ละชาติที่แตกต่างกันให้มาร่วมอยู่ในแนวทางเดียวกัน และเป็น "พลังแยก" คือแยกคนที่มีความเชื่อต่างกันให้เข้าต่อสู้กันในสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่มีการคลั่งใคล้ในลัทธิเป็นตัวจุดปะทุ แต่ละฝ่ายที่ทำการต่อสู้ทางอุดมการณ์อยู่ในปัจจุบัน ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้แก่พวกที่ยังไม่เข้าฝ่ายอีกหลายล้านคนว่า ฝ่ายตนมีจุดยืนที่เข้มแข็งกว่า มีระบบสังคมที่สูงส่งกว่า และมีแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรมกว่า แล้วป้ายสีระบบของฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นพวกชอบสงคราม เป็นจักรวรรดินิยม ต่ำทราม และมีความโหดร้ายทารุณ เมื่อจิตใจแต่ละคนในแต่ละค่ายอุดมการณ์ถูกปลูกฝังให้มีความจงเกลียดจงชังกันจนเข้ากระดูกดำอย่างนี้เสียแล้ว ก็ยากที่จะมีขันติธรรม และมีการประนีประนอมระหว่างกัน ผลที่ตามมา ก็คือ สงครามอุดมการณ์นี้ได้มีส่วนไปเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามเปิดเผยระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนต่างระบบที่กำลังแข่งขันกันอยู่นี้มากยิ่งขึ้น