Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Doctrine : Maoism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิเหมาเจ๋อตง

การตีความลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน และนโยบายต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาและปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้กระทำ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานเหมาเจ๋อตง รากฐานทางทฤษฎีของลัทธิเหมาเจ๋อตงนี้ มีปรากฏอยู่ในคำพังเพยต่าง ๆ ในหนังสือเรื่อง โคเทชันส์ ฟรอม แชร์แมน เหมาเจ๋อตง ที่มีการเผยแพร่เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง คุณูปการทางด้านทฤษฎีของเหมาเจ๋อตง ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ คือ (1) ทฤษฎีการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจรในหมู่ประเทศเกษตกรรมที่เป็นอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของพวกชาวไร่ชาวนา (2) คำนิยามของลัทธิประชาธิปไตยรวมศูนย์ ในแง่ของจีนนั้นหมายถึงการให้ประชาชนมีเสรีภาพและมีประชาธิปไตยแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมตนอยู่ภายใต้ "ระเบียบวินัยของสังคม" (3) นิยาม "เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" ของมาร์กซ์ในสถานการณ์ของจีนนั้น หมายถึง "เผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน" นำโดยชนชั้นกรรมกรและตั้งอยู่บนรากฐานของการเป็นพันธมิตรระหว่างกรรมกรกับชาวไร่ชาวนา (4) ทฤษฎีที่ยอมรับว่ามีความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยมของประชาชน เช่นเดียวกับที่มีความขัดแย้งระหว่างสังคมนิยมนี้กับพวกศัตรูที่เป็นนายทุน (5) ปฏิเสธคำเรียกร้องทางอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตที่ให้มี "การอยู่ร่วมกันโดยสันติ" แต่ให้ใช้หลักการ "ทำการปฏิวัติถาวร" ทั่วโลก ต่อฐานที่มั่นที่ยังเหลืออยู่ของลัทธิทุนนิยม และ (6) ปฏิเสธความรีบด่วนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีทางวัตถุ แต่ให้คงความบริสุทธิ์ของการปฏิวัติเอาไว้ และให้สร้าง"คนจีนใหม่" กับสังคมใหม่ที่ปลอดจากความขัดแย้งทั้งปวง

ความสำคัญ ลัทธิเหมาเจ๋อตงมีวิวัฒนาการมาจากการตีความและการประยุกต์ใช้หลักการของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน ตามแบบฉบับของจีน โดยบรรดาผู้นำคอมมิวนิสต์จีนในห้วงเวลา 50 ปีที่เหมาเจ๋อตง เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่นั้น เหตุการณ์สำคัญ ๆ ของการช่วงชิงอำนาจอันยาวนานที่ประกอบเป็นธรรมชาติของลัทธิเหมามีดังต่อไปนี้ (1) ช่วงต้น ๆ ของสงครามกลางเมืองระหว่างปี ค.ศ.1928 - 1934 (2) ช่วงลองมาร์ช(การเดินทางยาวนาน) เดือนมีนาคม ระหว่างปี ค.ศ. 1934 - 1935 (3) ช่วงต่อสู้กับญี่ปุ่นและเป็นพันธมิตรกับเจียงไคเช็กระหว่างปี ค.ศ. 1937 - 1945 (4) เกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1946 และ (5) ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 การพัฒนานโยบายของเหมาเจ๋อตงภายหลังปี ค.ศ. 1949 เฉพาะที่สัมพันธ์กับทฤษฎีคอมมิวนิสต์มีดังนี้ (1) มีการรณรงค์"ร้อยมวลบุปผา" ในช่วงสั้น ๆ เพื่อให้มีการอภิปรายโดยเสรีในกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ.1950 (2) มีโครงการพัฒนาการก้าวกระโดดไปข้างหน้า และมีการจัดตั้งคอมมูนต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1958 (3) เกิดการแก่งแย่งกับสหภาพโซเวียตเพื่อความเป็นผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์โลก และการแตกแยกในกระบวนการคอมมิวนิสต์สากลระหว่างต้นทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 (4) เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเมื่อปี ค.ศ. 1967 ระหว่างนักปฏิบัติการฝ่ายหนึ่งกับนักอุดมการณ์นำโดยประธานเหมาเจ๋อตงอีกฝ่ายหนึ่ง (5) เกิดยุคผ่อนคลายความตึงเครียดในทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 ระหว่างจีนกับฝ่ายตะวันตก นำไปสู่การรับจีนเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และจีนได้รับการรับรองทางการทูตจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ถึงแม้ว่าหลักการของลัทธิเหมาเจ๋อตงส่วนใหญ่จะได้มาจากมาร์กซ์, เองเกลส์, เลนิน และทรอสกี แต่พวกผู้นำจีนต่างก็อ้างว่า การตีความ การดัดแปลง และการประยุกต์ใช้หลักนิยมของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนิน ที่ได้ดำเนินการภายใต้การชี้นำของประธานเหมาเจ๋อตงนี้ เป็นสิ่งที่มาเติมหลักการเดิมของจีน แต่หลังจากประธานเหมาเจ๋อตงถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1976 แล้ว หลักการทางอุดมการณ์ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของประธานเหมาเจ๋อตงหลายอย่างได้ถูกปฏิเสธจากพวกผู้นำจีนยุคใหม่ภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง

No comments:

Post a Comment