Google

Saturday, October 17, 2009

Democratic Theory : Popular Sovereignty, ทฤษฎีประชาธิปไตย : อำนาจอธิปไตยปวงชน

หลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่บอกไว้ว่า ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจชอบธรรมทางการเมืองทั้งปวง แนวความคิดในเรื่องอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้มีสอนอยู่ในปรัชญาว่าด้วยสิทธิโดยธรรมชาติในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้เป็นรากฐานทางวิชาการของทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลักการอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ถือว่า (1) ประชาชนของหน่วยหรือสังคมทางการเมืองนั้น ๆ เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด (2) พวกประชาชนเหล่านี้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาแล้วมอบอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐโดยผ่านทางสัญญาสังคม หรือรัฐธรรมนูญ และ (3) รัฐบาลที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นยังต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งยังมีอำนาจสูงสุดนั้นอยู่

ความสำคัญ ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ พยายามอธิบายถึงที่เกิดและที่ตั้งของอำนาจในสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีนี้ก็ช่วยหาความชอบธรรมให้แก่การปฏิวัติโค่นล้มผู้ครองอำนาจเดิม ในกรณีที่รัฐบาลได้ละเมิดสิทธิของประชาชน หลักการนี้ได้มีการอธิบายไว้โดยนักปฏิวัติอเมริกันและนักปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1776 และ 1789 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าอำนาจทางการเมืองตามปกติแล้วประชาชนจะใช้โดยอ้อมผ่านทางสภาผู้แทน แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง ล้มเลิก และสร้างรัฐบาลในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ ในประการสุดท้ายนั้น อำนาจอธิปไตยปวงชนนี้ อธิบายถึงแนวความคิดของรัฐบาลโดยความยินยอม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดกับรูปแบบของระบอบอำนาจนิยม และระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดที่ว่า รัฐบาลในรัฐประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการเลือกตั้งเสรี และกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเลิกล้มได้โดยการกระทำของประชาชนนี้ เป็นแนวความคิดที่ใช้เป็นอาวุธทางโฆษณาชวนเชื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งของฝ่ายตะวันตก

No comments:

Post a Comment