หลักการที่ว่า อำนาจรัฐควรจะให้ใช้โดยพรรคการเมืองที่มีการจัดโครงสร้างอำนาจแบบพรรคเดียว ซึ่งนำโดยผู้นำสูงสุด หรือคณะบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ คตินิยมเชื่อผู้นำในทฤษฎีฟัสซิสต์นี้ จะปฏิเสธข้อจำกัดอำนาจรัฐโดยทางรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธในเรื่องพหุนิยมทางการเมือง แต่ต้องการจะให้เป็นรัฐแบบออร์กานิก (เสมือนหนึ่งสิ่งมีชีวิต) ที่ทุกกลุ่มและทุกคนมีบทบาทตามที่คณะผู้ปกครองมอบหมายให้ จะไม่ยอมให้มีการคัดค้านการปกครองของคณะผู้นำของพรรค และจะมีการใช้อำนาจรัฐทำลายผู้ที่ต่อต้านขัดขวางระบอบการปกครองนี้
ความสำคัญ การปกครองโดยกลุ่มคนในระดับผู้นำที่มีการรวมอำนาจและยึดแนวทางชาตินิยมมากเป็นพิเศษนี้ เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของลัทธิฟัสซิสต์ ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนีระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ได้กำจัดพรรคการเมืองทุกพรรคและคนทุกคนที่คัดค้าน และได้จัดตั้งระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จขึ้นมา และกลยุทธ์ต่าง ๆ คล้ายกันนี้ก็ได้มีการนำมาใช้โดยพรรคฟัสซิสต์ของเบนิโต มัสโสลินี ในอิตาลี พรรคฟาลังยิสต์ของ ฟรังซิสโก ฟรังโก ในสเปน และพรรคเปอโรนิสตา ในอาร์เจนตินา พวกผู้นำฟัสซิสต์ถึงแม้ว่าปกติแล้วจะหาทางให้มวลชนมาสนับสนุนโดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ โดยการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางชาตินิยม และโดยการกระตุ้นให้รู้สึกนิยมชมชอบในลัทธิแสนนิยมแต่ก็จะไม่ยอมให้คน "ธรรมดาสามัญ" ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง มีนักปราชญ์บางท่านบอกว่า เพลโตนักปรัชญากรีกสมัยโบราณเป็นนักทฤษฎีฟัสซิสต์คนแรกเพราะในปรัชญาว่าด้วยรัฐในอุดมคติของนักปราชญ์ท่านนี้ มีเรื่องหลักนิยมของผู้นำแบบนี้อยู่ด้วย
No comments:
Post a Comment