หลักการพื้นฐานของทฤษฎีประชาธิปไตย ที่วางหลักไว้ว่า ข้าราชการหรือข้ารัฐการทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ภาระรับผิดชอบนี้สามารถควบคุมได้ (1) โดยการเลือกตั้ง (2) โดยการควบคุมทางรัฐธรรมนูญ (3) โดยการริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน การลงประชามติ และการถอดถอน (4) โดยการสำรวจประชามติและการหยั่งเสียงมหาชน (5) โดยกิจกรรมของพรรคการเมือง (6) โดยการชุมนุมของประชาชน การมีเสรีภาพในการชุมนุม การร้องทุกข์ การอภิปราย การแจ้งข่าวทางสื่อมวลชน และ (7) โดยการออกเสียงลงคะแนนหรือนับจำนวนสมาชิกในสภานิติบัญญัติ
ความสำคัญ ระบบประชาธิปไตยในทุกระบบ ต่างยอมรับในหลักการภาระรับผิดชอบนี้ มีเพียงแต่สถาบันและระเบียบปฏิบัติเพื่อบังคับใช้หลักการที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ในทางปฏิบัตินั้น สายงานการรับผิดชอบนี้จะไล่ขึ้นไปตั้งแต่ระดับข้าราชการหรือข้ารัฐการระดับล่างสุดจนถึงระดับรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะขึ้นไปยังประมุขฝ่ายบริหารและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และขั้นสุดท้ายก็จะถึงผู้ออกเสียงลงคะแนนโดยผ่านทางการเลือกตั้งนั่นเอง ส่วนสายงานทางด้านอำนาจนั้น ก็จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสายงานภาระรับผิดชอบ ระบบพรรคการเมืองที่มีความรับผิดชอบนั้น จะทำการส่งเสริมขีดความสามารถของประชาชนให้สามารถบังคับรัฐบาลให้มีภาระรับผิดชอบในนโยบาย ตลอดจนให้การวินิจฉัยสั่งการและในการบริหารต่าง ๆ จากการมีระบบความรับผิดชอบนี้เอง ทำให้ระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนี้มีข้อแตกต่างจากระบบการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ และแตกต่างจากระบบประชาธิปไตย "แบบมีการชี้นำ" หรือ "แบบผักชีโรยหน้า" ซึ่งเป็นระบบที่ใช้รูปแบบและสถาบันของประชาธิปไตย แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วเป็นการใช้อำนาจบงการเหนือประชาชน ระบบการเมืองที่มีภาระรับผิดชอบและความรับผิดชอบต่อประชาชนอยู่ในระดับสูงสุด อย่างเช่นระบบของอังกฤษ อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบมีประชาธิปไตยมากที่สุด
No comments:
Post a Comment