อุดมการณ์ที่เรียกร้องให้กำจัดสถาบันต่าง ๆ ของพวกนายทุน แล้วสถาปนาสังคมรวมอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา ซึ่งให้ที่ดินและทุนตกเป็นของสังคมส่วนรวม ให้เป็นสังคมที่จะไม่มีการขัดแย้งระหว่างชนชั้น และจะไม่มีการใช้อำนาจบังคับของรัฐอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางการเมืองหลายท่านนับแต่ยุคสมัยเพลโตเป็นต้นมา จะได้พัฒนาทฤษฎีที่รวมเอารูปแบบหลากหลายของลัทธิคอมมิวนิสต์มาก็จริง แต่หลักการของคอมมิวนิสต์สมัยใหม่เพิ่งจะได้มีการตั้งกันขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เอง โดยนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปหลายท่าน เป็นต้นว่า ฟรังซัว ฟูเรียม, โรเบิร์ต โอเวน, คลาวด์ เซนต์-ซีมอน เป็นต้น แต่ว่าคาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดริช เองเกลส์ ไม่ยอมรับนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปเหล่านี้โดยมองว่าคนพวกนี้รวมทั้งพวกคอมมิวนิสต์สายศาสนจักร ล้วนแต่เป็นพวก "ยูโทเปีย" (พวกเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ) จึงได้วางแบบหลักนิยมที่เรียกว่า "สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" ขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักการที่ได้กลายเป็นรากฐานของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี่เอง มีนักทฤษฎีและผู้นำทางการเมืองคอมมิวนิสต์หลายท่านนับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้ช่วยกันตีความ ดัดแปลง และแต่งเติมเสริมต่อ ให้แก่ทฤษฎีคอมมิวนิสต์เหล่านี้ แต่ผู้ที่มีคุณูปการที่สำคัญมากที่สุดต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์นี้ ก็ได้แก่ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน, โยเซฟ สตาลิน, ลีออง ทรอสกี, เหมาเจ๋อตง, และโยซิป บรอซ ติโต แต่คนที่พวกคอมมิวนิสต์ ถือว่ามีคุณูปการมากที่สุด คือ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน ลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนินได้ให้การสนับสนุนปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ที่บอกไว้ว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากลัทธินายทุนไปสู่ลัทธิสังคมนิยมแน่ ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย เนื่องจากเป็นผลของความขัดแย้งภายในที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนนิยมนั่นเอง ในหลักการของคอมมิวนิสต์ได้บอกไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนดังว่าจะก่อให้เกิดสงครามทางชนชั้น และเกิดการแข่งขันกันในทางจักรวรรดินิยมและการล่าเมืองขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการล้มล้างเหล่ากระฏุมพีผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหลาย โดยการปฏิวัติของพวกชนชั้นกรรมาชีพ ต่อจากนั้นโครงการทางสังคมนิยม ที่ดำเนินการภายใต้ระบบ"เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" จะนำไปสู่การยุติสงครามชนชั้น ทำการขจัดความจำเป็นที่จะมีรัฐคงอยู่ออกไป และนำสังคมไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ คือขั้นตอนที่ไม่ต้องมีชนชั้นและไม่ต้องมีรัฐ
ความสำคัญ นับแต่ที่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต เมื่อปี ค.ศ. 1848 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิคอมมิวนิสต์แนวมาร์กซิสต์นี้ เป็นแค่เรื่องที่นำมาพูดคุยกันในวงการนักวิชาการ และเป็นเพียงหลักนิยมที่สนับสนุนนักก่อกวนที่ไม่บรรลุผลสำเร็จในหลายประเทศ ครั้นเมื่อกองทัพและสังคมรัสเซียถึงแก่การล่มสลายเมื่อ ค.ศ. 1917 นั้นแล้วก็เป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้คณะปฏิวัติบอลเชวิกและพวกคอมมิวนิสต์ได้ "สร้างสังคมนิยมในประเทศหนึ่ง" ได้สำเร็จ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง ค.ศ. 1949 อันเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น การเข้ายึดครองดินแดนของกองทัพแดงทำให้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์มีอำนาจในยุโรปตะวันออกและในเกาหลีเหนือ ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ในยูโกสลาเวียและจีนผืนแผ่นดินใหญ่ได้ชัยชนะด้วยกำลังของตนเอง โลกคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 นี้ ตามสายตาของนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกหลายท่านบอกว่า มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ครั้นต่อมาถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ก็ได้เกิดการแตกแยกครั้งสำคัญระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต กับทั้งรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกก็ได้มีอิสระมากยิ่งขึ้น โดยอิงอาศัยแม่แบบของลัทธิติโตหรือแม่แบบลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติในยูโกสลาเวีย แต่ทว่าการแตกแยกในทางหลักการสำคัญ ๆ ระหว่างหมู่นักทฤษฎีและนักยุทธศาสตร์คอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 เป็นต้นมานั้น เป็นเรื่องในประเด็นที่ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิชาตินิยมเกื้อกูลซึ่งกันและกันหรือไม่ หรือในประเด็นที่ว่า อุดมคติของ "ลัทธินานาชาตินิยมของชนชั้นกรรมาชีพ" และการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติทั่วโลกนี้ ควรจะมาก่อนการพัฒนาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแห่งชาติหรือไม่ พวกนักปฏิบัติการและข้ารัฐการรุ่นใหม่ในสหภาพโซเวียต และในรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ต่างก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น และพวกคนเหล่านี้ก็มีความประสงค์จะพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตลอดจนทำการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศของตนให้ดียิ่งขึ้น ในช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 พวกคอมมิวนิสต์จีนได้เกิดการขัดแย้งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายเคร่งหลักการในพรรคฯกับฝ่าย "ผู้จัดการ" ทำให้เกิด "ปฏิวัติวัฒธรรม" ภายใต้การนำของท่านประธานเหมาเจ๋อตง เพื่อคืนความบริสุทธิ์ให้แก่การปฏิวัติและเป้าหมายทางอุดมการณ์ของการปฏิวัตินี้ พวกผู้นำจีนต่างก็ได้ประณามพวกคอมมิวนิสต์สายโซเวียตและสายยุโรปตะวันออก ว่าเป็นพวก "ลัทธิแก้” ความแตกแยกระหว่างค่ายจีนกับค่ายโซเวียตครั้งนี้ เกี่ยวพันกับต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดการแตกแยกกันอย่างรวดเร็วเพราะแรงกระทบจากลัทธิชาตินิยมและลัทธิหลายศูนย์อำนาจ แต่หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของท่านประธานเหมาเจ๋อตงแล้ว พวกผู้นำจีนยุคใหม่ก็ได้เริ่มใช้กระบวนการทางเสรีนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ลัทธิมาร์กซิสต์ - ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ซึ่งมีหลักการสำคัญบอกไว้ว่า การปฏิวัติล้มล้างในหมู่รัฐนายทุนที่ถึงภาวะสุกงอมเต็มที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้นี้ ได้ถูกเข้ามาแทนที่โดยการเน้นที่จะหาทางพิสูจน์ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นระบบสังคมที่ประเสริฐกว่าในทางปฏิบัติ ยุทธวิธีการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในยุคปัจจุบันจึงได้มุ่งไปในทางให้การสนับสนุนแก่ขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ ในชาติที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย
No comments:
Post a Comment