ข้อสมมติฐานของลัทธิมาร์กซิสต์ที่ว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตาม จะรวมถึงค่าแรงงานในการผลิต “ที่จำเป็นทางสังคม" เข้าด้วยกับ "ค่าส่วนเกิน" ที่อยู่ในรูปของกำไรสำหรับนายทุนนั้นด้วย คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่า จากทฤษฎีค่าส่วนเกินนี้ หมายถึงว่า กรรมกรเป็นผู้ก่อให้เกิดค่าทุกอย่างแก่ผลิตภัณฑ์ แต่ได้ถูกโกงเอาไปโดยให้แต่เพียงค่าชดเชย ขณะเดียวกันนั้นนายทุนเป็นฝ่ายได้กำไรโดยขูดเลือดขูดเนื้อเอาจากแรงงานของผู้อื่นอีกทีหนึ่ง แนวความคิดเรื่องค่าส่วนเกินนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล มาร์กซ์ด้วยการรวมเอาทฤษฎีค่าแรงแบบคลาสสิก ซึ่งสอนไว้โดย จอห์น ล็อค, อาดัม สมิธ, และ เดวิด ริคาร์โดเข้ากับหลักกนิยมค่าจ้างเพื่อการยังชีพของลัทธิพาณิชยนิยม ทฤษฎีค่าแรงแบบคลาสสิกนั้นมีแนวความคิดว่า ค่าทุกอย่างมีฐานอยู่บนการผสมผสานแรงงานของคนเข้ากับวัตถุดิบของโลก ส่วนหลักนิยมค่าจ้างเพื่อการยังชีพนั้นก็มีปรัชญาว่า พวกกรรมกรจะต้องให้ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเข้าไว้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ต้องทำงานในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการยังชีพ
ความสำคัญ ทฤษฎีค่าส่วนเกินที่ได้พัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล มาร์กซ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการนำหลักนิยมคอมมิวนิสต์มาใช้อธิบายความขัดแย้งของลัทธิทุนนิยม คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน บอกไว้ว่า ที่พวกนายทุนมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะพยายามขยายค่าส่วนเกินหรือกำไรนี่เอง จะก่อให้เกิดความยากจนข้นแค้นในหมู่กรรมกรมากยิ่งขึ้น คนจะมีแรงซื้อน้อยลง ส่วนผลิตผลส่วนเกินที่ขายไม่ออกก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมตามมา การต่อสู้ของชนชั้นระหว่างผู้ถูกเอาเปรียบกับผู้เอาเปรียบก็จะเกิดตามมาอันเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ปกป้องลัทธินายทุนก็ได้ยืนยันเหมือนกันว่า เรื่องกำไรนั้นเป็นรางวัลที่นายทุนควรจะได้สำหรับความสามารถในการประกอบการ และเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีสำหรับการเสี่ยงในการลงทุน และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็ยังบอกด้วยว่า ความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจของพวกกรรมกรในรัฐทุนนิยม ได้มีการปรับปรุงรวดเร็วกว่าในกรณีของกรรมกรในรัฐคอมมิวนิสต์ที่ค่าส่วนเกินตกไปเป็นของรัฐนั้นเสียอีก
No comments:
Post a Comment