ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : วัตถุนิยมวิภาษวิธี (วัตถุนิยมแบบถกเถียงเพื่อหาข้อยุติ)
แนวความคิดที่อธิบายถึงว่า การรวมตัวของสิ่งที่แย้งเข้าด้วยกันก่อให้เกิดการพัฒนาทางสังคมได้อย่างไรบ้าง วิภาษวิธีที่ คาร์ล มาร์กซ์ยืมมาจากปรัชญาของเฮเกลนี้ ได้กล่าวถึงกระบวนการที่แนวความคิดแต่ละอย่าง (ธีสิล) ก่อให้เกิดความคิดที่แย้งกัน (แอนตีธีสิส) และก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งจนบังเกิดเป็นแนวความคิดใหม่ที่สูงส่งกว่า (ซินธีสิส) คาร์ล มาร์กซ์ได้ดัดแปลงวิธีการวิภาษวิธีนี้มาใช้กับมุมมองทางวัตถุนิยมของเขา และได้ใช้วิธีการนี้มาอธิบายกระบวนการที่ชนชั้นซึ่งครอบงำเศรษฐกิจในแต่ละสังคมเกิดการต่อสู้กันและก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะมีการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นสังคมสุดท้ายที่มีความบริสุทธิ์ปราศจากชนชั้นและปราศจากรัฐ เลนินกล่าวถึงวิภาษวิธีนี้ว่า "เป็นการศึกษาความขัดแย้งในแก่นแท้ของทุกสิ่งทุกอย่าง"
ความสำคัญ วัตถุนิยมวิภาษวิธี มีความสำคัญยิ่งต่อปรัชญาลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะพวกนิยมลัทธิมาร์กซิสต์ เชื่อว่าวัตถุนิยมวิภาษวิธีนี้เป็นศาสตร์แห่งสังคมที่เผยถึงกฎการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่คาร์ล มาร์กซ์ปรับเปลี่ยนปรัชญาของเฮเกลนี้เสียใหม่ โดยบอกว่าแนวความคิดเป็นเพียงสิ่งสะท้อนของความจริงทางวัตถุ ยิ่งกว่าที่จะเป็นปัจจัยครอบงำในประวัติศาสตร์ พวกคอมมิวนิสต์สายเคร่งได้ใช้ประโยชน์จากวัตถุนิยมวิภาษวิธีที่คาร์ล มาร์กซ์กล่าวถึงนี้ โดยได้ยอมรับถึงการหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากลัทธิทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมแน่ ๆ ทั้งนี้ก็เพราะทุกแง่ทุกมุมของสังคมมนุษย์ถูกควบคุมโดยพลังทางวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดทางเลือกของมนุษย์และเป็นตัวให้นิยามมนุษย์ว่าเป็นผลผลิตที่สังคมเป็นผู้กำหนด ส่วนพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ปฏิเสธวิธีการวิภาษวิธีของคาร์ล มาร์กซ์นี้ โดยบอกว่า เป็นวิธีที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ มีการยึดหลักศรัทธาในอุดมการณ์มากจนเกินไป และเป็นวิธีที่ยึดเอาตัวแปรเพียงตัวเดียวมาตีความประวัติศาสตร์
No comments:
Post a Comment