หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิติโต
ทฤษฎีและหลักปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติ ที่สอนโดย โยซิป บรอซ ติโตผู้นำคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย ลัทธิติโตนี้เริ่มเกิดเป็นหลักการใหม่ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 อันเป็นปีที่ประธานาธิบดีติโตได้ปฏิเสธหลักความเป็นหนึ่งเดียวของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ที่โยเซฟ สตาลิน ได้ทำการผลักดันจะให้เป็น ซึ่งในระบบที่สตาลินต้องการนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ในชาติต่าง ๆ จะต้องยอมรับการชี้นำและการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต แต่ติโตบอกว่า ลัทธิชาตินิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์มีหลักการที่เกื้อกูลแก่กันและกัน และจะต้องรวมเข้าเป็นขบวนการใหม่ ที่รัฐคอมมิวนิสต์แต่ละรัฐยังคงมีเอกราชทางการเมืองอยู่อย่างเต็มที่ และสามารถเลือก "แนวทางสู่สังคมนิยม" ที่เป็นของตนเองได้
ความสำคัญ ลัทธิติโตมีผลกระทบตั้งแต่แรก คือ ได้ไปทำลายเอกภาพของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่อยู่ภายใต้การครองความเป็นใหญ่ของสหภาพโซเวียตนับแต่ปี ค.ศ. 1948 เป็นต้นมา ยูโกสลาเวียได้ดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกิจการต่างประเทศ ได้ทำการค้าขายและรับความช่วยเหลือทั้งจากฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก ได้พัฒนาเศรษฐกิจและระบบการเมืองของตนโดยยึดหลักปฏิบัติเป็นสำคัญโดยมีอิสระจากการถูกควบคุมทางอุดมการณ์หรือทางการเมืองจากภายนอก ถึงแม้ว่าสตาลินจะพยายามทำลายการกบฏของลัทธิติโตนี้ แต่นิกิตา ครุชชอฟ กลับประณามลัทธิสตาลิน และได้หันกลับมาสมานไมตรีกับติโตเมื่อปี ค.ศ. 1955 การสมานไมตรีกันนี้ได้ดำเนินมาตลอดช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 จนถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 โดยพวกที่สืบอำนาจต่อจากครุชชอฟ อย่างไรก็ดี ผลกระทบสำคัญของลัทธิติโตนี้ อยู่ตรงที่มีการยอมรับลัทธิติโตนี้เกือบจะทั่วโลกคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลนำไปสู่การเน้นย้ำว่าสามารถที่จะพัฒนาลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติเป็นเอกเทศได้ ตามเหตุปัจจัยของรัฐคอมมิวนิสต์แต่ละรัฐ ผลที่ตามมาก็คือ ได้เกิดลัทธิหลายขั้วอำนาจ กล่าวคือ มีการจัดตั้งศูนย์อำนาจที่มีอิสระขึ้นมาหลากหลาย ในค่ายคอมมิวนิสต์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว
No comments:
Post a Comment