ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน

ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน
ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน

Google

Saturday, October 17, 2009

Communist Theory : Imperialism and Colonialism

ลัทธิคอมมิวนิสต์ : จักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม

สมมติฐานที่ว่า ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของลัทธิทุนนิยม จะชักนำรัฐต่าง ๆ ให้ดำเนินนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมในต่างแดน ลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมของพวกนายทุนนี้ พวกคอมมิวนิสต์ได้ให้อรรถาธิบายไว้ตั้งแต่สมัยของเลนินแล้วว่า เป็นวิธีการ (1) หาที่แหล่งใหม่สำหรับการลงทุน (2) หาตลาดแห่งใหม่ไว้สำหรับขายผลิตผลส่วนเกินที่ขายไม่ออกในตลาดเมืองแม่ เนื่องจากความยากจนข้นแค้นของประชาชน และ (3) หาวัตถุดิบในราคาถูก ๆ ไว้ป้อนโรงงานในเมืองแม่ การที่จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อยึดและควบคุมอาณานิคมนี้ ก็เกิดจากความจำเป็นเนื่องจากธรรมชาติของลัทธิทุนนิยมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือได้มีการเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนแข่งขันกันในช่วงแรก ๆ ไปสู่ขั้นตอนผูกขาดโดยพวกพ่อค้านักลงทุนต่าง ๆ เลนินบอกว่า ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือ จะมีการแข่งขันในการดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยมนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างรัฐนายทุนทั้งหลาย

ความสำคัญ ทฤษฎีที่ว่า จักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม เป็นผลผลิตจากความขัดแย้งของทุนนิยมนี้ มีการอ้างถึงอยู่ในงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ของ คาร์ล มาร์กซ์ ก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นลักษณะสำคัญของหลักการคอมมิวนิสต์ คนที่ได้พัฒนาเรื่องนี้ คือ เลนิน โดยเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ จักรวรรดินิยม : ขั้นตอนสูงสุดของลัทธินายทุน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1917 ในการพัฒนาทฤษฎีที่ว่านี้ เลนินได้ขอยืมแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เจ. เอ. ฮอบสัน มาใช้เกือบจะทั้งหมด ฮอบสันได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ จักรวรรดินิยม (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1902) โดยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า นโยบายจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมของฝ่ายตะวันตกนี้ เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นที่มีอยู่ในระบบทุนนิยม คือ มีการประหยัดมากเกินไปของคนในประเทศเมืองแม่ จึงต้องหาทางชดเชยตลาดภายในที่คนไม่มีแรงซื้อพอนี้ โดยการไปหาตลาดในต่างประเทศเอาไว้ขายสินค้าเหล่านี้ หลักนิยมของเลนินนี้ ได้เปลี่ยนแปลงลัทธิมาร์กซิสต์ โดยได้พยากรณ์ไว้ว่า การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นในชาติที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมมาก ๆ แล้วเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมด้อยพัฒนาใทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ที่ลัทธิทุนนิยมในขั้นผูกขาดกำลังครอบงำประชาชนอยู่นั้นด้วย แต่ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์หลักนิยมคอมมิวนิสต์ บอกว่า นับแต่สมัยของเลนินเป็นต้นมา วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยังขัดกับทฤษฎีของเลนินอยู่โดยเฉพาะที่เลนินทำนายไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงภายในลัทธิทุนนิยมจะทำให้รัฐนายทุนต่าง ๆ ขาดวัตถุดิบและตลาดในต่างประเทศนั้น ไม่เห็นจะจริงตรงไหน เพราะชาติที่ได้เอกราชใหม่ ๆ ทั้งหลาย ต่างก็พยายามที่จะขยายการขายโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐานให้แก่รัฐนายทุนต่าง ๆ อยู่ และการค้าขายระหว่างรัฐที่ได้เอกราชใหม่ ๆ กับรัฐนายทุนก็มีแต่เฟื่องฟูอยู่ตลอดมา ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ยุคจักรวรรดินิยมและยุคล่าอาณานิคมก็ได้ยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีให้คนที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมทั้งหลายได้รับเอกราชและการปกครองตนเองโดยถ้วนหน้าแล้ว ส่วนการที่พวกคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในประเทศต่าง ๆ นั้น ก็มิใช่เพราะผลของการต่อสู้ของชนชั้น แต่เป็นเพราะพวกผู้นำคอมมิวนิสต์ได้ใช้วิธีสร้างความหวังหรือไม่ก็เข้ายึดครองกระบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วและเคยเป็นเจ้าอาณานิคมเหล่านี้ ที่มาเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองไพบูลย์มากยิ่งขึ้นนี้ ก็เพราะไม่ต้องมามัวพะวงต่ออาณานิคมต่าง ๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไปนั่นเอง พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ยืนยันด้วยว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนแต่ขัดกับทฤษฎีของลัทธิเลนินที่ว่าด้วยจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมนี้ทั้งนั้น ส่วนทางฝ่ายที่ให้การสนับสนุนทฤษฎีของลัทธิเลนินก็ได้ชี้แจงว่า ผู้คนในกลุ่มประเทศโลกที่สามตอนนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก และว่า เดี๋ยวนี้ได้มีการเกิดลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ของฝ่ายตะวันตก ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทนานาชาติขนาดใหญ่ที่ได้เข้าควบคุมกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม และลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่นี้แหละได้เข้าแทนที่ลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมแบบเดิม

No comments:

Post a Comment