ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ : การปฏิวัติทางวัฒนธรรม
ชื่อที่บรรดาสานุศิษย์ของเหมาเจ๋อตง ใช้เรียกการต่อสู้จลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 เพื่อต่อต้านลัทธิแก้และการเบี่ยงเบนไปจากแนวทางปฏิบัติของคอมมิวนิสต์ พวกนิยมลัทธิเหมาเจ๋อตงมีความเห็นว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี้เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนชั้นกรรมาชีพ ต่อต้านการฟื้นฟูลัทธินายทุนและลัทธิวัตถุนิยมทั้งแบบตะวันตกและแบบของโซเวียตการต่อสู้อย่างต่อเนื่องนี้ถือว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ เพราะว่ากระแสการต่อต้านของลัทธิวัตถุนิยมนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมันใกล้จะถึงจุดจบ
ความสำคัญ ในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี้ ความจริงแล้วมิใช่การแก่งแย่งอำนาจระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิทุนนิยมแต่อย่างใด ทว่าเป็นการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างฝ่ายปฏิวัติหัวเก่ากับพวกนักปฏิบัติการและพวกข้ารัฐการจีนรุ่นใหม่ เป็นการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างพวกที่ยึดมั่นในการปฏิวัติกับพวกที่ยึดแนวสร้างชาติ การแก่งแย่งกันระหว่างสองฝ่ายที่ชิงดีชิงเด่นกันนี้ได้สร้างความแตกแยกขึ้นในสังคมจีน โดยที่พวกผู้นำเก่าไม่สามารถพึ่งพิงพรรค รัฐ และเจ้าหน้าที่ทางการทหารจีนได้ จึงได้หันไปหามวลชนที่จัดตั้งในรูปแบบที่เรียกว่า "ผู้พิทักษ์แดง" มาช่วยพิทักษ์พวกผู้นำหัวเก่าเหล่านี้ เป้าหมายสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่บอกไว้ว่า จะต้องเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ให้เป็น "มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่" ให้ได้นี้ ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในจีนครั้งนี้
No comments:
Post a Comment