หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิทรอสกี
ทฤษฎีต่าง ๆ ของลีออง ทรอสกี นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ชั้นแนวหน้า เป็นผู้เคยแข่งขันกับโยเซฟ สตาลิน เพื่อความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตหลังอสัญกรรมของเลนินเมื่อปี ค.ศ. 1924 หลังจากการปฏิวัติบอลเชวิกเมื่อปี ค.ศ. 1917 และช่วงเกิดสงครามกลางเมืองนั้นแล้ว ทรอสกีได้คัดค้านการใช้ฐานคอมมิวนิสต์ในรัสเซียเพื่อบรรลุถึงการปฏิวัติทั่วโลก ส่วนสตาลินได้เรียกร้องให้สร้างสังคมนิยมในประเทศเดียว เพื่อให้ลัทธิคอมมิวนิสต์มีฐานที่มั่นคงเหนียวแน่นสามารถต้านทานการต่อต้านการปฏิวัติของลัทธินายทุนให้ได้ เมื่อสตาลินได้อำนาจในปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1920 แล้ว ก็ได้ขับทรอสกีออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและให้เนรเทศไปอยู่ในต่างประเทศ ในช่วงที่ถูกเนรเทศอยู่นี้ ทรอสกีก็ยังคงคัดค้านสตาลินและลัทธิสตาลิน จนกระทั่งเขาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตที่เม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 1940 ลัทธิทรอสกีในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ ได้เรียกร้องให้มีเอกภาพและให้มีความพยายามร่วมกันในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพทั่วทุกประเทศ เพื่อสถาปนาเครือจักรภพคอมมิวนิสต์โลกขึ้นมาให้ได้ ทรอสกีเชื่อว่า ที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวนั้นก็เพราะได้สร้างชนชั้นปกครองขึ้นในระบบข้ารัฐการให้มาคอยเอารัดเอาเปรียบและหักหลังฉกฉวยเอาผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรไป
ความสำคัญ ลัทธิทรอสกี ได้ถูกประณามว่าเป็น ลัทธินอกคอก และลัทธิแก้ ซึ่งสองลัทธินี้เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักคำสอนแบบเดิมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทรอสกีเป็นทั้งนักทฤษฎีและนักเขียนมาร์กซิสต์ที่มีความเฉลียวฉลาดมาก นอกจากนั้นแล้วเขาก็ยังเป็นนักยุทธวิธีทางการทหาร ที่ได้ช่วยการปฏิวัติรัสเซียเอาไว้ด้วยการเร่งพัฒนากองทัพแดงให้มีขีดความสามารถเป็นกองทัพชั้นหนึ่งได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ทรอสกีถูกสตาลินเบียดตกจากอำนาจหลังจากที่ได้ชิงกันในช่วงยุคหลังเลนิน หลังจากนั้นสตาลินก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ลัทธิทรอสกียังคงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีในหลายประเทศในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปฏิเสธแนวความคิดแบบลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติและให้การสนับสนุนจุดมุ่งหมายของลัทธิทรอสกีที่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นแบบคตินิยมไม่ถือชาติ
No comments:
Post a Comment