กลาสนอสต์ เป็นศัพท์ในภาษารัสเซีย แปลว่า "การเปิด" นโยบายกลาสนอสต์ คู่กับนโยบายเปเรสทรอยกา(แปลว่า การบูรณะ) นี้เป็นนโยบายรัฐในสหภาพโซเวียต นับตั้งแต่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1985 กอร์บาชอฟได้เริ่มโครงการปฏิรูปขึ้นมา ด้วยการเน้นที่การสร้างความทันสมัยและให้เกิดการคล่องตัวแก่เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ในโครงการกลาสนอสต์นี้ มีการกำจัดคอร์รับชั่น ห้ามเสพสุรามึนเมาในขณะทำงาน ห้ามเกียจค้านในขณะทำงาน ให้เสรีภาพในการตัดสินใจสำหรับธุรกิจและโรงงานขนาดย่อมมากขึ้น ยอมให้มีการลงทุนด้านกองทุนการจัดงาน ยอมให้มีมาตรการการแข่งขันกันและให้ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดได้ เป็นต้น ส่วนในด้านการเมืองนั้น กอร์บาชอฟได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง อนุญาตให้มีการอพยพคนจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเหมืองหนึ่งได้ซึ่งแต่เดิมทำไม่ได้ ให้มีการเลือกตั้งด้วยการใช้ระบบการแข่งขันในแบบประชาธิปไตยสำหรับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ อนุญาตให้มีการตีพิมพ์ผลงานเขียนต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ และสนับสนุนให้มีการพาดหัวข่าวที่ถูกต้องในสหภาพโซเวียต ในทางส่วนตัวนั้นเล่า กอร์บาชอฟก็ได้เข้าคลุกคลีกับประชาชนโซเวียต เพื่อจะได้รู้แนวความคิดของพวกเขาในเรื่องต่าง ๆ นอกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในนโยบายภายในดังว่ามานี้แล้ว กอร์บาชอฟก็ยังได้ผ่อนปรนท่าทีและจุดยืนของโซเวียตต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบอีกด้วย
ความสำคัญ ในหมู่ประเทศตะวันตก ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า นโยบายกลาสนอสต์นี้ เป็นของกอร์บาชอฟจริง ๆ หรือว่าเป็นฝีมือการชักใยอยู่เบื้องหลังฉากของพวกข้ารัฐการรุ่นใหม่ของโซเวียตกันแน่ ส่วนคำถามอื่น ๆ ที่พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกยกขึ้นมาถามนั้น ก็คือ กอร์บาชอฟจะต่อสู้กับการคัดค้านของพวกผู้วิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งพวกนักวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ต่างปฏิเสธการรณรงค์ให้มีเสรีประชาธิปไตยของกอร์บาชอฟ ด้วยเหตุผลส่วนตัวบ้าง ด้วยเหตุผลในทางอุดมการณ์บ้าง นอกจากนี้แล้ว พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกก็ยังได้ถกเถียงกันด้วยว่า การที่ระบบของโซเวียตมีเสรีภาพมากขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น มีลักษณะในทางประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการเปิดมากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้คนโซเวียตมีการแข่งขันทางอุดมการณ์และทางการเมืองมากขึ้นมาอีกหรือไม่ การที่จะตอบปัญหาเหล่านี้และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกลาสนอสต์นี้ได้ ต้องไปดูที่การพัฒนาในเชิงรูปธรรมในนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตนั้นเสียก่อน
No comments:
Post a Comment