ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน

ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน
ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ในบ้าน

Google

Saturday, October 17, 2009

Atlantic Charter : กฎบัตรแอตแลนติก

ปฏิญญาร่วมที่ออกแถลงโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)แห่งอังกฤษ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1941 ภายหลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันบนเรือลำหนึ่งกลางมหาสมุทรแอตแลนติก กฎบัตรแอตแลนติกนี้ได้ประกาศหลักการต่าง ๆ ที่สองประเทศนี้ใช้นำทางเพื่อแสวงหาสันติภาพที่ยุติธรรมและโลกที่มีเสถียรภาพ ภายหลังจากที่ระบอบการปกครองของนาซีได้ถูกทำลายแล้ว หลักการต่าง ๆ ในกฎบัตรแอตแลนติก ได้แก่ (1) ให้มีเสรีภาพ 4 อย่าง คือ เสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว เสรีภาพที่ปลอดจากความต้องการ เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการนับถือศาสนา (2) ให้มีการใช้หลักการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองในการเปลี่ยนแปลงดินแดนทั้งปวง (3) ให้สิทธิแก่ประชาชนชาติต่าง ๆ ที่จะเลือกรูปแบบการปกครองของรัฐบาลที่พวกตนจะเข้าไปอยู่อาศัยด้วยนั้น (4) ให้มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการค้า และการหาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อความไพบูลย์ และให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันทางเศรษฐกิจในหมู่ชาติทั้งปวง (5) ให้มีสันติภาพพร้อมกับมีความมั่นคงสำหรับรัฐทั้งปวง (6) ให้มีเสรีภาพทางทะเล และ (7) ไม่ให้การสนับสนุนการใช้กำลัง ให้มีการสถาปนาระบบความมั่นคงร่วมกันเป็นการถาวร และให้มีการลดกำลังรบของทุกชาติที่คุกคามสันติภาพ

ความสำคัญ กฎบัตรแอตแลนติกนี้ มีลักษณะเหมือนกับโครงการ "โฟร์ทีนพ้อยท์" ที่ประกาศโดยประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คือใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อสำคัญอย่างหนึ่ง ที่มีเป้าหมายให้ไปกระตุ้นมวลชนให้หันมาสนับสนุนแนวทางของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎบัตรแอตแลนติกนี้มีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะคือเพื่อจะสยบความรู้สึกของคนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ยึดนโยบายแยกอยู่โดดเดี่ยวต่อไป เพราะว่าได้มีการประกาศกฎบัตรนี้ 4 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิลฮาร์เบอร์แล้วสหรัฐฯก็ได้เข้าร่วมในสงคราม หลักการต่าง ๆ ของกฎบัตรนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ที่เกี่ยวกับเสรีภาพ 4 อย่างนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางให้เป็นเป้าหมายของสงคราม แต่หลักการเหล่านี้ได้กลับกลายเป็นสิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในช่วงหลังสงคราม หลักการของกฎบัตรแอตแลนติกหลายข้อได้มีการนำไปปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น หลักการปกครองตนเองได้ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ความใฝ่ฝันของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมในอาณานิคมต่าง ๆ หลายล้านคนที่ต้องการได้เอกราชและมีรัฐเป็นของของตน ส่วนหลักการ"ระบบความมั่นคงร่วมกันที่ถาวร" นี้ก็ได้ก่อรูปเป็นองค์การสหประชาชาติ และหลักการการร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจก็ได้มีการส่งเสริมเป็นการใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อน กฎบัตรแอตแลนติกนี้ได้รับการกระตุ้นจากพวกที่ยึดแนวทางอุดมคติในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

Brainwashing : การล้างสมอง

เทคนิควิธีทางจิตวิทยา ที่นำมาใช้เพื่อปรับแนวความคิดของบุคคลเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแบบที่ได้ตั้งเกณฑ์เอาไว้แล้ว คำว่า "brainwashing" นี้ได้มาจากภาษาพูดในภาษาจีนที่เขียนตามคำอ่านว่า สี-เหน่า (แปลว่า ล้างสมอง) การล้างสมองนี้จะดำเนินการโดยให้มีการสารภาพความผิดเสียก่อนแล้วจากนั้นก็จะมีการใช้กระบวนการให้การศึกษาใหม่ วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดผลในการล้างสมองแก่บุคคลนั้นก็จะมีการใช้วิธีรุนแรงและผ่อนปรนผสานกันไป กับจะมีการสลับฉากด้วยการใช้วิธีการให้คุณและให้โทษทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอีกด้วย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้มีการออกแบบมาเพื่อให้บุคคลนั้นละทิ้งความคิดอ่านแบบเก่านั้นเสียก่อนแล้วต่อจากนั้นก็จะสร้างความคิดอ่านแบบใหม่ใส่เข้าไปไว้แทน

ความสำคัญ เทคนิควิธีการล้างสมองนี้ ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยพวกคนจีน เพื่อพร่ำสอนแนวความคิดความอ่านของมวลชนชาวจีนในช่วงหลังปี ค.ศ. 1949 ที่พวกคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองจีนแล้ว และในช่วงเกิดความขัดแย้งในสงครามเกาหลี พวกคนจีนก็ได้พยายามล้างสมองพวกเชลยศึกอเมริกันได้สำเร็จในบางราย มีเชลยศึกอเมริกันบางรายประกาศเลิกจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา ได้สารภาพบาปที่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม เช่น การทำสงครามเชื้อโรค เป็นต้น และพวกนี้ก็ได้เลือกที่จะขอลี้ภัยอยู่ในจีนแทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศสหรัฐอเมริกา การล้างสมองที่ใช้เป็นเทคนิควิธีสำหรับปรับค่านิยมใหม่ให้แก่บุคคลและเพื่อเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีของบุคคลนี้ จะมีผลอย่างไรบ้างนั้น ข้อนี้ยากที่จะประเมิน แม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางสงครามจิตวิทยาบางรายมีความเชื่อว่า การล้างสมองนี้สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางด้านอุดมการณ์มากยิ่งกว่าในการเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีต่อชาติของบุคคล

.Capitalism : ลัทธินายทุน

ทฤษฎีและระบบทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการประกอบการอิสระแบบเสรีนิยม ทฤษฎีลัทธินายทุนเรียกร้องให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและในปัจจัยการผลิต ให้มีระบบแข่งขันกันโดยมีกำไรมาเป็นตัวกระตุ้น ให้เอกชนมีส่วนริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ให้รัฐบาลขัดขวางในเรื่องของกรรมสิทธิ์ การผลิตและการค้า กับให้มีเศรษฐกิจแบบการตลาด คือ ให้เป็นระบบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอุปทานและอุปสงค์ นอกจากนี้แล้ว ทฤษฎีลัทธินายทุนนี้ก็ยังมีข้อสมมติฐานด้วยว่าหากปล่อยให้แรงงานและทุนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีและให้มีการค้าเสรีทั้งในตลาดภายในประเทศและในตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศและเกิดการชำนาญเฉพาะทางระหว่างชาติต่าง ๆ ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าลัทธินายทุนในบางรูปแบบจะมีอยู่ในสังคมมนุษย์ตลอดมาก็จริงแต่ทฤษฎีที่ซับซ้อนที่ใช้เป็นฐานรองรับลัทธินายทุนในสมัยใหม่เหล่านี้ ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาโดยพวกนักเศรษฐศาสตร์ในยุคคลาสสิก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง เวลท์ ออฟ เนชั่นส์ ของอาดัม สมิธ เมื่อปี ค.ศ. 1776

ความสำคัญ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่18 ต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่19 หลักการและแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ของลัทธิทุนนิยม รวมทั้งแนวความคิดทางประชาธิปไตยของเสรีนิยมทางการเมืองได้เข้ามาแทนที่ลัทธิพาณิชยนิยมและระบอบราชาธิปไตยที่มีมาแต่เดิม เมื่อรัฐบาลได้ทำการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศของลัทธิพาณิชยนิยมนี้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ได้เปิดทางให้แก่การประกอบการแบบเสรีนิยมโดยให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนให้มีการค้าอย่างเสรีเกิดขึ้นมาอีกด้วย ผลจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติทางการอุตสาหกรรมขึ้นมา คริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นศตวรรษแห่งผลพวงของลัทธิทุนนิยม และในขณะเดียวกันลัทธินี้ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างมากมาย ในบางรัฐการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของการขยายบทบาทของรัฐบาลในกิจการทางเศรษฐกิจ มีการให้เอกชนมามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสามารถริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐบาลที่ให้การสนับสนุนและสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาในระบบ "เศรษฐกิจผสม" ใหม่นี้ ส่วนในบางรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ ลัทธิทุนนิยมนี้ได้ถูกเข้าแทนที่โดยลัทธิสังคมนิยมหรือลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานให้รัฐเข้าควบคุมเศรษฐกิจและการค้าอย่างเคร่งครัด ในโลกปัจจุบันนี้ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตบางรายมีความเชื่อว่า ลักษณะขั้นพื้นฐานของลัทธิทุนนิยมที่ยึดหลักให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้เป็นการประกอบการแบบเสรีนิยมนี้ ได้ถูกบิดเบือนในรัฐประชาธิปไตยบางรัฐ โดยใช้สงครามเศรษฐกิจและการเกี่ยวโยงทางอำนาจระหว่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมกับฝ่ายรัฐบาล ส่วนในสหภาพโซเวียตและในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออก ก็ได้มีการปฏิรูปต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการไปลดบทบาทของรัฐบาลในการวางแผนและในการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และในขณะเดียวกันก็เป็นการไปช่วยสนับสนุนให้มีการใช้แรงจูงใจเรื่องผลกำไรกับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนและกับคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระดับอุดมการณ์นั้นก็จะเป็นการยากที่จะให้มีการยอมรับแนวความคิดของลัทธินายทุนนี้ในรัฐที่กำลังพัฒนาอีกหลาย ๆ รัฐ เพราะในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีระบบที่ให้เอกชนได้เข้ามาเป็นผู้ริเริ่มในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่ค่อยมีการออม และไม่ค่อยมีตลาดผู้บริโภคมากนัก ส่วนในรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์บางรัฐ อย่างเช่น จีนและฮังการี ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมนิยมในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ที่ให้รัฐมีบทบาทควบคุมนี้ โดยได้ทำการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่าง ๆ ด้วยการยอมให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการทางเศรษฐกิจและให้นำระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มาใช้แทนระบบที่รัฐบาลทำการควบคุมและปฏิบัติการเสียเองอย่างแต่ก่อน

Communism : ลัทธิคอมมิวนิสต์

อุดมการณ์ที่เรียกร้องให้กำจัดสถาบันต่าง ๆ ของพวกนายทุน แล้วสถาปนาสังคมรวมอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา ซึ่งให้ที่ดินและทุนตกเป็นของสังคมส่วนรวม ให้เป็นสังคมที่จะไม่มีการขัดแย้งระหว่างชนชั้น และจะไม่มีการใช้อำนาจบังคับของรัฐอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางการเมืองหลายท่านนับแต่ยุคสมัยเพลโตเป็นต้นมา จะได้พัฒนาทฤษฎีที่รวมเอารูปแบบหลากหลายของลัทธิคอมมิวนิสต์มาก็จริง แต่หลักการของคอมมิวนิสต์สมัยใหม่เพิ่งจะได้มีการตั้งกันขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เอง โดยนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปหลายท่าน เป็นต้นว่า ฟรังซัว ฟูเรียม, โรเบิร์ต โอเวน, คลาวด์ เซนต์-ซีมอน เป็นต้น แต่ว่าคาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดริช เองเกลส์ ไม่ยอมรับนักสังคมนิยมและนักปฏิรูปเหล่านี้โดยมองว่าคนพวกนี้รวมทั้งพวกคอมมิวนิสต์สายศาสนจักร ล้วนแต่เป็นพวก "ยูโทเปีย" (พวกเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ) จึงได้วางแบบหลักนิยมที่เรียกว่า "สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" ขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักการที่ได้กลายเป็นรากฐานของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี่เอง มีนักทฤษฎีและผู้นำทางการเมืองคอมมิวนิสต์หลายท่านนับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้ช่วยกันตีความ ดัดแปลง และแต่งเติมเสริมต่อ ให้แก่ทฤษฎีคอมมิวนิสต์เหล่านี้ แต่ผู้ที่มีคุณูปการที่สำคัญมากที่สุดต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์นี้ ก็ได้แก่ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน, โยเซฟ สตาลิน, ลีออง ทรอสกี, เหมาเจ๋อตง, และโยซิป บรอซ ติโต แต่คนที่พวกคอมมิวนิสต์ ถือว่ามีคุณูปการมากที่สุด คือ วลาดิเมียร์ อิลยิช เลนิน ลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนินได้ให้การสนับสนุนปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ที่บอกไว้ว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากลัทธินายทุนไปสู่ลัทธิสังคมนิยมแน่ ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย เนื่องจากเป็นผลของความขัดแย้งภายในที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนนิยมนั่นเอง ในหลักการของคอมมิวนิสต์ได้บอกไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีอยู่ในธรรมชาติของลัทธินายทุนดังว่าจะก่อให้เกิดสงครามทางชนชั้น และเกิดการแข่งขันกันในทางจักรวรรดินิยมและการล่าเมืองขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการล้มล้างเหล่ากระฏุมพีผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหลาย โดยการปฏิวัติของพวกชนชั้นกรรมาชีพ ต่อจากนั้นโครงการทางสังคมนิยม ที่ดำเนินการภายใต้ระบบ"เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ" จะนำไปสู่การยุติสงครามชนชั้น ทำการขจัดความจำเป็นที่จะมีรัฐคงอยู่ออกไป และนำสังคมไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ คือขั้นตอนที่ไม่ต้องมีชนชั้นและไม่ต้องมีรัฐ

ความสำคัญ นับแต่ที่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต เมื่อปี ค.ศ. 1848 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิคอมมิวนิสต์แนวมาร์กซิสต์นี้ เป็นแค่เรื่องที่นำมาพูดคุยกันในวงการนักวิชาการ และเป็นเพียงหลักนิยมที่สนับสนุนนักก่อกวนที่ไม่บรรลุผลสำเร็จในหลายประเทศ ครั้นเมื่อกองทัพและสังคมรัสเซียถึงแก่การล่มสลายเมื่อ ค.ศ. 1917 นั้นแล้วก็เป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้คณะปฏิวัติบอลเชวิกและพวกคอมมิวนิสต์ได้ "สร้างสังคมนิยมในประเทศหนึ่ง" ได้สำเร็จ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง ค.ศ. 1949 อันเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น การเข้ายึดครองดินแดนของกองทัพแดงทำให้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์มีอำนาจในยุโรปตะวันออกและในเกาหลีเหนือ ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ในยูโกสลาเวียและจีนผืนแผ่นดินใหญ่ได้ชัยชนะด้วยกำลังของตนเอง โลกคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 นี้ ตามสายตาของนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกหลายท่านบอกว่า มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ครั้นต่อมาถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 ก็ได้เกิดการแตกแยกครั้งสำคัญระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต กับทั้งรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกก็ได้มีอิสระมากยิ่งขึ้น โดยอิงอาศัยแม่แบบของลัทธิติโตหรือแม่แบบลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติในยูโกสลาเวีย แต่ทว่าการแตกแยกในทางหลักการสำคัญ ๆ ระหว่างหมู่นักทฤษฎีและนักยุทธศาสตร์คอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1917 เป็นต้นมานั้น เป็นเรื่องในประเด็นที่ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิชาตินิยมเกื้อกูลซึ่งกันและกันหรือไม่ หรือในประเด็นที่ว่า อุดมคติของ "ลัทธินานาชาตินิยมของชนชั้นกรรมาชีพ" และการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติทั่วโลกนี้ ควรจะมาก่อนการพัฒนาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแห่งชาติหรือไม่ พวกนักปฏิบัติการและข้ารัฐการรุ่นใหม่ในสหภาพโซเวียต และในรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ต่างก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น และพวกคนเหล่านี้ก็มีความประสงค์จะพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตลอดจนทำการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศของตนให้ดียิ่งขึ้น ในช่วงกลางทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 พวกคอมมิวนิสต์จีนได้เกิดการขัดแย้งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายเคร่งหลักการในพรรคฯกับฝ่าย "ผู้จัดการ" ทำให้เกิด "ปฏิวัติวัฒธรรม" ภายใต้การนำของท่านประธานเหมาเจ๋อตง เพื่อคืนความบริสุทธิ์ให้แก่การปฏิวัติและเป้าหมายทางอุดมการณ์ของการปฏิวัตินี้ พวกผู้นำจีนต่างก็ได้ประณามพวกคอมมิวนิสต์สายโซเวียตและสายยุโรปตะวันออก ว่าเป็นพวก "ลัทธิแก้” ความแตกแยกระหว่างค่ายจีนกับค่ายโซเวียตครั้งนี้ เกี่ยวพันกับต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดการแตกแยกกันอย่างรวดเร็วเพราะแรงกระทบจากลัทธิชาตินิยมและลัทธิหลายศูนย์อำนาจ แต่หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของท่านประธานเหมาเจ๋อตงแล้ว พวกผู้นำจีนยุคใหม่ก็ได้เริ่มใช้กระบวนการทางเสรีนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ลัทธิมาร์กซิสต์ - ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ซึ่งมีหลักการสำคัญบอกไว้ว่า การปฏิวัติล้มล้างในหมู่รัฐนายทุนที่ถึงภาวะสุกงอมเต็มที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้นี้ ได้ถูกเข้ามาแทนที่โดยการเน้นที่จะหาทางพิสูจน์ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นระบบสังคมที่ประเสริฐกว่าในทางปฏิบัติ ยุทธวิธีการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในยุคปัจจุบันจึงได้มุ่งไปในทางให้การสนับสนุนแก่ขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ ในชาติที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย

Communist Doctrine : Gorbachevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิกอร์บาชอฟ

คุณูปการต่าง ๆ ต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี ค.ศ.1985 กอร์บาชอฟประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ได้เริ่มการปฏิรูปต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองเป็นการใหญ่ด้วยการใช้นโยบายแบบเสรีนิยม โดยอ้างว่าการปฏิรูปครั้งนี้สะท้อนให้เห็นแนวความคิดขั้นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้แก่ (1) มีการพยายามเพิ่มผลผลิตของกรรมกรด้วยการให้ลดการติดสุราและลดการขาดงานในสถานที่ทำงาน (2) มีการใช้นโยบาย "ร่วมทุน"อย่างจำกัด กับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ (3) ให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจและทางการพาณิชย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจมากขึ้น โดยปลอดจากการควบคุมทางการเมือง และให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (4) ส่งเสริมมาตรการบางอย่างในวิสาหกรรมภาคเอกชน และ (5) ให้ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดที่ยึดหลักอุปทานอุปสงค์เป็นสำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมัยกอร์บาชอฟนี้ เรียกในภาษารัสเซียว่า "กลาสนอสต์ (แปลว่า การเปิด)" และ "เปเรสทรอยกา (แปลว่า การบูรณะเศรษฐกิจ)" ส่วนสไตล์หรือรูปแบบของกอร์บาชอฟก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับสไตล์ของนักการเมืองฝ่ายตะวันตก คือ จะเสนอรายงานผ่านสื่อมวลชนสู่ประชาชนอยู่เนือง ๆ และก็ชอบเข้าไปคลุกคลีกับประชาชนชาวโซเวียตเพื่อรับรู้ความรู้สึกของคนในระดับล่าง ๆ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องต่าง ๆ ในขณะนั้น และเขาก็ยังมีแนวปฏิบัติอื่น ๆ คือ (1) มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายราย (2) มีการอนุญาตให้ตีพิมพ์งานเขียนต่าง ๆ ที่แต่เดิมห้ามมิให้มีการตีพิมพ์ และ (3) มีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในลักษณะที่มีการแข่งขันแบบประชาธิปไตยสำหรับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แม้ว่าโครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้ ในเนื้อหาและการนำไปใช้จะเกี่ยวกับกับเรื่องภายในประเทศเสียส่วนใหญ่ แต่ที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศได้เสนอให้มีการควบคุมอาวุธและลดกำลังรบ อย่างเช่นให้ใช้ระบบ "ซีโร-ออฟชั่น" เพื่อกำจัดอาวุธปล่อยพิสัยปานกลางออกจากยุโรป และเสนอให้มีสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์แบบเบ็ดเสร็จ เป็นต้น

ความสำคัญ โครงการปฏิรูปในแบบเสรีนิยมที่ดำเนินการโดย มิคาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต เป็นการเบี่ยงเบนครั้งสำคัญจากลัทธิมากซิสต์-ลัทธิเลนินแบบเดิม ๆ ที่ได้เกิดขึ้นนับแต่มีการปฏิวัติบอลเชวิก และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพวกคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1919 เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงเกิดการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาในหมู่ประเทศตะวันตก บ้างก็ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า โครงการแบบเสรีนิยมของกอร์บาชอฟนี้จะอยู่รอดจากการรุมโจมตีจากฝ่ายที่เป็นศัตรูของโครงการ คือจากภายในของสหภาพโซเวียตเองและจากกลุ่มประเทศในกติกาสัญญาวอร์ซอได้หรือไม่ และถ้าหากว่าโครงการแบบเสรีนิยมของเขานี้ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตกกันแน่ และการที่สหภาพโซเวียตมีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยมและเป็นแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนี้ จะไปช่วยลดการคุกคามทั้งทางด้านการทหารและทางด้านอุดมการณ์ลงมาหรือไม่ คำถามต่าง ๆ ที่ว่ามานี้และรวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงคาดเดาต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ดี เรื่องแรงกระทบของลัทธิกอร์บาชอฟต่อสหภาพโซเวียต ต่อประเทศฝ่ายตะวันตก และต่อทั่วทั้งโลก จะเป็นอย่างไรและมีมากขนาดไหน ยังเป็นปริศนาที่ดำมืดอยู่ต่อไป โครงการ "กลาสนอสต์" และ "เปเรสทรอยกา" ในสหภาพโซเวียตมีความละม้ายคล้ายคลึงกับขบวนการเสรีนิยมที่เริ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ค.ศ. 1977 โดย เติ้งเสี่ยวผิง

Communist Doctrine : Khrushchevism

หลักนิยมคอมมิวนิสต์ : ลัทธิครุชชอฟ

คุณูปการของ นิกิตา เอส. ครุชชอฟ ที่มีต่อลัทธิมาร์กซิสต์ -ลัทธิเลนิน และต่อการประยุกต์ใช้หลักนิยมคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต ลัทธิครุชชอฟนี้ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1956 ซึ่งเป็นปีที่ครุชชอฟเริ่มปรากฏตัวเป็นผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาในการแก่งแย่งอำนาจกันในยุคหลังสตาลิน จวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1963 อันเป็นปีที่ครุชชอฟถูกถอดออกจากอำนาจโดยอีกกลุ่มหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งนำโดย เลโอนิด ไอ. เบรซเนฟ และ อเล็กไซ โคซีกิน ครุชชอฟผู้นี้เริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แทนโยเซฟ สตาลิน ที่ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1953 เขาเริ่มเข้ากุมอำนาจเมื่อปี ค.ศ.1958 ซึ่งเขาได้ได้ถอด นิโคไล เอ. บุลกานิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาเองก็ได้เข้ารับตำแหน่งนี้แทน ส่วนคุณูปการต่าง ๆ ของครุชชอฟที่มีต่อหลักการคอมมิวนิสต์เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้คือ (1) มีการปฏิเสธหลักการ "ยึดตัวบุคคล" ของสตาลิน แล้วได้หันกลับมาใช้แนวทางแบบผู้นำร่วมของลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินที่ "แท้ ๆ " (2) มีการประกาศใช้หลักการและนโยบาย"การอยู่ร่วมกันโดยสันติ" ระหว่างหมู่รัฐคอมมิวนิสต์กับหมู่รัฐนายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้เรียกร้องให้ทำ "สงครามปลดปล่อยแห่งชาติ"ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (3)มีการประณามลัทธิเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จของสตาลิน และได้ดำเนินนโยบายที่มีลักษณะทรราชย์น้อยลงมาบ้างในสหภาพโซเวียต (4) มีการกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนเป็นครั้งแรกไว้สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์แล้วได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากรัฐสังคมนิยมนี้ไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี (5) มีการประกาศว่า ถึงแมัว่าชนชั้นและรัฐจะ "ห่อเหี่ยวร่วงโรย" ไปหมดแล้วก็ตาม แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะยังคงเป็นพลังชี้นำในสังคมอนาคตอยู่ต่อไป และ (6)มีการพัฒนาหลักการทางยุทธวิธีที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะต้องเอาชนะลัทธินายทุนนิยมด้วยการแข่งขันกันโดยสันติวิธีในโลก ทั้งนี้โดยวิธีพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นระบบสังคมและระบบการผลิตที่สูงส่งกว่าระบบทุนนิยม

ความสำคัญ คุณูปการต่าง ๆ ของลัทธิครุชชอฟ ที่มีต่อหลักการและหลักปฏิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ เป็นผลพวงมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ที่ผู้นำโซเวียตช่วงยุคหลังสตาลินเผชิญหน้าอยู่ ยกตัวอย่างเช่น มีการตึงเครียดเกิดขึ้นเพราะผลมาจากการใช้วิธีการแบบเผด็จการกดขี่บังคับ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพในสังคมโซเวียตและสังคมในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก พอครุชชอฟก้าวขึ้นสู่อำนาจก็ได้ประณามยุคของสตาลินว่าเป็นยุคแห่งความกลัว แม้ว่าตัวครุชชอฟเองจะมีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็ตาม แต่พอถึงทีตัวเองมีอำนาจบ้าง ครุชชอฟก็ได้หันเข้าหาวิธีการปกครองแบบใหญ่คนเดียวบ้าง และต่อมาเขาเองก็ได้ถูกพวกที่เข้ารับช่วงอำนาจต่อประณามว่าเป็นพวก "ยึดหลักบุคคล" อีกเหมือนกัน ในด้านกิจการต่างประเทศนั้น ครุชชอฟก็ได้ยอมรับว่า ได้มีการปฏิวัติทางอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นมาพร้อม ๆกันจึงทำให้สงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกพ้นสมัยไปแล้ว แต่ทว่าสภาวะความไม่มั่นคงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในชาติต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา สร้างโอกาสให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบ โดยครุชชอฟได้เสนอให้ใช้วิธีการ "ทางลัด" แบบสังคมนิยมในการพัฒนาและการสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ว่าครุชชอฟจะมิได้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อลัทธิมาร์กซิสต์-ลัทธิเลนินก็จริง แต่ว่าการตีความและการประยุกต์ใช้ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ของผู้นำโซเวียตในช่วงยุคครุชชอฟนี้ ก็ได้ส่งผลให้มีการเน้นย้ำในเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลให้มีการทบทวนนโยบายคอมมิวนิสต์ที่มีมาแต่เดิม ตลอดจนเกิดผลให้มีความแตกแยกครั้งสำคัญในโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างฝ่ายสหภาพโซเวียตกับฝ่ายจีน